อันตรายจากลูกชิ้น
ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ลูกชิ้นเป็นผลิตภัณฑ์แปลรูปจากเนื้อสัตว์ แม้ว่าลูกชิ้นจะมีหลายแบบ หลายขนาด และมีส่วนผสมหลักที่แตกต่างกันไป เช่น ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่มักพบเจอในลูกชิ้นทุกแบบ คือ
สารบอแรกซ์ หรือน้ำประสานทอง แม้ว่าจะมีกฎหมายไม่ให้ใส่ในอาหาร แต่ก็ยังมีผู้ผลิตที่มักแอบใส่เพื่อให้ลูกชิ้นมีความเหนียวนุ่ม เด้งหนึบหนับ และไม่เน่าเสียง่าย
สารกันบูด เช่น กรดเบนโซอิก ผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปในลูกชิ้น เพื่อไม่ให้ลูกชิ้นเสียง่าย เก็บได้นาน เนื่องจากเวลาทำขายมักทำเป็นปริมาณมากต่อครั้ง อาจไม่ได้ทำสดใหม่วันต่อวัน หากใส่ในปริมาณมากอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งเสี่ยงต่ออาการแพ้ได้
โซเดียม ในลูกชิ้น 5 ลูก (ลูกขนาดกลาง 1 ไม้) มีโปรตีนราว 7 กรัม ไขมันราว 5 กรัม แต่เมื่อลูกชิ้นเป็นเนื้อสัตว์แปรรูป จึงมีโซเดียมมากกว่าเนื้อสัตว์ปกติถึง 10 เท่า หรือ ราว 350 มิลลิกรัม
สีผสมอาหาร หากเป็นลูกชิ้นสีเข้มๆ ที่มีการใส่สีผสมอาหารมากเกินไป ส่งผลต่อการทำงานของตับ และไต ที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพยายามขับสารเคมีที่เกินความต้องการของร่างกายออก
อาการที่พบหากได้รับสารบอแรกซ์มากเกินไป
อ่อนเพลีย
เบื่ออาหาร
น้ำหนักลด
ตับ และไตอักเสบ
คลื่นไส้ อาเจียน
ปวดท้อง
อุจจาระร่วง อุจจาระเป็นเลือด
ชัก
หมดสติ
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีการตรวจเช็กคุณภาพของลูกชิ้นตามตลาดต่างๆ อยู่เรื่อยๆ และยังไม่พบลูกชิ้นที่มีค่าจากสารปนเปื้อนเกินมาตรฐานแต่อย่างใด แต่ก็ยังมีอันตรายอื่นๆ เช่น โซเดียมในลูกชิ้นที่มีปริมาณสูงมาก ทำให้ไต และหัวใจทำงานหนักได้
วิธีเลือกซื้อ-รับประทานลูกชิ้นปราศจากสารบอแรกซ์
ซื้อลูกชิ้นที่ทราบผู้ผลิต หรือแหล่งผลิต ที่บรรจุภัณฑ์มีรหัส อย.
- หลีกเลี่ยงการบริโภคลูกชิ้นสีสันเข้มสดใสมากเกินไป
- รักษาระดับในการรับประทานโซเดียมในแต่ละคน อย่าให้สูงเกินไป
- ไม่ซื้อลูกชิ้นที่ใช้น้ำมันซ้ำในการทอด ลูกชิ้นที่ปิ้ง ย่างจนไหม้เกรียมมากเกินไป เพราะอาจมีสารก่อมะเร็ง
- ลดการบริโภคลูกชิ้นลง ไม่บริโภคเป็นประจำทุกวัน หรือในปริมาณมาก เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้
- รับประทานลูกชิ้นร่วมกับผัก หรือผลไม้ เพื่อให้ได้คุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วนในมื้อนั้นๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น