วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น ในที่สุดฉันก็เดินได้แล้ว!

ฉันป่วยเป็นโรค สโตร๊ค (Stroke)
        

เวลาพูดว่า ฉันเป็นโรค "สโตร๊ค" คนที่ไม่รู้ก็งง มันคือโรคอะไร มันคือโรค  "เส้นเลือดในสมอง"

(คำว่า Stroke หมายถึง เนื้อสมองตายเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงเป็นเวลานานเกินไป Stroke สามารถเป็นอาการของหลอดเลือดมีลิ่มเลือดอุดตัน หรือมีการตีบแคบลง หรือหลอดเลือดแตกมีเลือดไหลออกนอกหลอดเลือด โรคนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ตายหรือพิการได้เป็นอันดับต้นๆเลยทีเดียว โรคเส้นเลือดในสมองแตกหรือเนื้อสมองตายสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย สามารถป้องกันได้โดยการออกกำลังกายหรือลดปริมาณเกลือที่สะสมในร่างกาย )

กลับมาที่คำว่า Stroke อีกที จริง ๆ ความหมายตรง ๆ ของมันคือ การที่เราเอามือลูบขนสุนัขหรือแมว บริเวณลำคอหรือลำตัวของมัน ด้วยความรักและเอ็นดู "ลูบขึ้น ลูบลง ,มันช่างให้ความหมายต่างกันสิ้นดี กับ ความหมายที่ว่า ป่วยเป็นโรค เส้นเลือดสมอง กลายเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต พิการเดินไม่ได้ พูดไม่ได้ ไม่เหมือนคนเป็นโรคหัวใจวาย ที่สามารถเดินเหิรได้ 
ตอนที่ฉัน ฟื้นขึ้นมาแล้ว หมอให้ฉันจับปากกาเพื่อลากเส้นตรงบนกระดาษ ฉันทำไม่ได้ เรียกว่าไม่เป็นมากกว่า อย่างดีที่ทำได้คือ มองริมฝีปากหมอและพยาบาลที่คอยถามคำถามง่าย ๆ ว่า "ชื่ออะไรคะ" ตอนนั้นฉันหงุดหงิดมาก ฟื้นมา ก็จำใครไม่ได้เลย มีแต่คนรีบ บอก ว่าแต่ละคนคือใคร ส่วนหมอและพยาบาลก็ผลัดกันเข้ามาทักและจ้องตาฉัน และอ้าปากถามช้า ๆ ว่า "ชื่ออะไรคะ ชื่ออะไรครับ" ฉันก็ตอบเบา ๆว่า ชื่อวารีนา ค่ะ พยาบาลก็ถามอีก "ชื่ออะไรนะคะ พูดชัด ๆ ช้า ๆค่ะ  ฉัน ก็อ้าปากตอบช้า ๆ " ชื่อ วา-รี- นา ค่ะ" หล่อนบอก "ดีมาก" ทีแรกฉันก็โกรธ ทำไมหมอกับพวกพบาบาล ไม่อ่านชื่อคนป่วยที่ติดอยู่ ปลายเตียง ถามอยู่ได้ ที่ไหนได้ เค้าจะเช็คสมอง ว่าหล่อน จำชื่อตัวเองได้ไหมตะหาก
       ฉันไม่อยากใช้ไม้เท้า เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของคนพิการ ฉันไม่ชอบให้คนมาลูบ ๆ หลังมือ ปลอบใจ และมามอง ๆ ด้วยสายตาเห็นใจสงสาร บ้างก็ มีน้ำตาคลอ ๆ ให้เห็น  แต่นานวันเข้าฉันก็เรียนรู้ว่าที่คนวิ่งกุลีกุจอไปเปิดประตูห้างให้เรา ไม่ได้แปลว่าเค้าสงสารหรือแคร์เราหรอก แต่เป็นเพราะเค้า รักษามารยาท และ อยากดูดีในสายตาคนอื่น ๆ อิอิ
 ฉันเคยคิดว่า ใครโชคร้ายเป็นโรค สโตรก ก็หมายถึง "จบสิ้นแล้ว ชีวิตคุณหมดแล้ว" เดี๋ยวนี้ฉันรู้แล้วว่าวิธีคิดแบบนั้นมันไม่ถูก เราต้องต่อสู้  ฉันเคยคิดสรุปเอาเองว่า หมดแล้ว ยอมรับความจริงเหอะ มันเกิดขึ้นแล้ว นอนแบบอยู่บนเตียง ขยับตัวได้นิด ๆหน่อย ๆ แค่จะยกมือขึ้นมาวางบนขาหรือย้ายมือจากที่หนึ่งไปวางอีกที่หนึ่งก็ทำไม่ได้ ไม่มีแรง ก็ไม่ใช่ คือมันทำไม่ได้ ยกไม่ขึ้น มันดูเหมือนจะหนักไปหมดทุกส่วนของร่างกาย ขาก็ขยับไม่ได้
หมอบอกให้ กระดิกปลายเท้า ฉันก็ได้แต่จ้องหน้าฟังว่าหมอพูดอะไร เข้าใจแต่ขยับไม่ได้
ตอนนั้นฉันคิดแต่ว่าเราต้องยอมรับความจริง ต่อไปนี้เราพูดไม่ได้ ขยับไม่ได้ เดินไม่ได้อีกต่อไป  แต่พอนานวันเข้าฉันก็ เริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่ ฉันต้องต่อสู้ต้องหาวิธีทำให้ได้ จะวิธีง่ายหรือยาก มันก็ต้องมีวิธี
เมื่อคิดขึ้นได้ ฉันก็เริ่มทำใจยอมรับ ว่าฉันต้องต่อสู้เอง ต้อง หาทางเอง ญาติพี่น้องก็ช่วยเราได้ ระดับหนึ่ง ช่วยให้ข้าวให้น้ำ พาไปอาบน้ำ ไปเข้าห้องน้ำ ฉันโชคดีที่มีครอบครัวอบอุ่น แต่ไม่โชคดีมากพอที่จะมีสามีหรือลูกหลานคอยดูแล อาจจะเป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้ในที่นี้ แต่มันก็มีส่วนทำให้ฉัน มีแรงบันดาลใจช่วยตัวเองให้มากขึ้น และ คิดบวกตลอดเวลา...ขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือและให้กำลังใจรูป:วันที่ไปอยู่ศูนย์ฟื้นฟู(วัดทุ่งบ่อแป้น วัดความดัน ทำประวัติ ฉันกับ "จิ๊บ"น้องชายผู้ดูแลฉันมาตลอด)

     กลับมาเรื่อง ร่างกายมั่งดีกว่า เริ่มที่การเลือกเสื้อผ้าที่ใส่ประจำวัน ฉันต้องเลือกเสื้อที่สามารถสวมได้ง่าย ๆ เช่น ปิดกระดุมด้านหน้าด้วยมือข้าง(ซ้าย)ข้างเดียว กลัดกระดุม ทีละเม็ด ๆ กลัดผิดไม่ได้นะต้องรื้อทิ้ง กลัดใหม่อยู่เรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที หรือไม่ก็เสื้อยืดคอวี หรือคอกว้างพอที่จะสวมศรีษะได้ง่าย ๆ ด้วยมือเดียว เสื้อก็ต้องเลือกที่มีกระเป๋า ที่เก็บของเล็ก ๆน้อย ๆ มือถือมั่ง ของจุกจิกมั่ง แต่ฉันก็มักจะถือกระเป๋าถือทำด้วยผ้าลาย ๆ (เผื่อมอมแมมจะได้สังเกต ไม่เห็น) ในนั้นก็มีทุกอย่าง มือถือ ยาที่ต้องทานประจำวัน หนังสืออ่านเล่น (พวกธรรมะ หรือพวก ความรู้ เกี่ยวกับ ยา การออกกำลังกาย พวก โมติเวทให้มีกำลังใจ อะไรประเภทนั้น มี ลูกบอล นิ่ม ๆ สำหรับ บีบ ฝึกออกกำลังกายมือ มี 2-3 ขนาด มี ถุงผ้าใส่เม็ดมะขาม เอาไว้ออกมานับ ๆ ฝึกกล้ามเนื้อปลายนิ้ว ที่ลืมไม่ได้คือ แว่นสายตา และแว่นกันแดด













การทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูในระยะแรก
สุขภาพของคนป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมอง เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็น การฟื้นฟูที่ต้องทำตลอดชีวิต  คนป่วยหลายคน เข้ารับการฟื้นฟูแบบถูกต้อง ตามหลักวิชาการ คือฟื้นฟูไปตามขั้นตอน ทางร่างกาย -จิตใจและอารมณ์  แต่ไม่ว่าจะฟื้นฟูโดยวิธีไหน สิ่งสำคัญที่คนป่วยและคนดูแลตลอดจนสมาชิกในครอบครัวต้องตระหนักคือ ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหน มันก็เหมือนการเดินทางที่เต็มไปด้วยความหวังทุกย่างก้าวนะคะ ..........
(รูป: คุณหมอของฉัน ยังเด็ก ๆ อยู่เลย ) 
เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคุณหลังจากฟื้นขึ้นมา เรื่องที่คุณต้องเรียนรู้รายละเอียดมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองและการพักฟื้น มีข้อมูลที่คุณและผู้ดูแลของคุณสามารถค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เยอะแยะไปหมด ที่ดิฉัน ชอบไปค้นบ่อย ๆคือเว็บไซต์ สองเว็บนี้ค่ะ
 Learn more about Living After Stroke


ใน 18 เดือน แรก(ปีครึ่ง) ฉันอาศัยอยู่กับพี่สาว(คนเดียว) ที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีบ้านและโรงงาน อยู่ในบริเวณเดียวกัน มันทำให้ฉันต้องปรับตัวมาก เนื่องจากฉันคุ้นกับการอยู่กับหมาพุดเดิ้ล 1 ตัวมาตลอด 15 ปี ก่อนป่วย อ้อ พูดถึง กระเป๋าถือของฉัน มี เครื่องสำอางด้วย ก็ ฉันยังรักสวยรักงามเหมือนผู้หญิงทั่วไปนะแหละ ฉันเดินไปทั่วบ้าน ขึ้น ๆ ลง ระหว่างห้องนอน กับ ห้องครัว ห้องอื่น ๆ พี่สาวฉัน บ่นเสมอเรื่อง ที่ฉันไม่ยอมวางกระเป๋าโดเรม่อน ชีบอกว่า "อยากจะรู้จริง ๆในนั้นเธอ มีเพชรมีพลอยอะไร เธอถึงไม่ยอมทิ้งยอมวาง" ช่างไม่เข้าใจคนป่วยเล๊ย.. ฉันต้องมียาหอมยาดม มีผ้าเช็ดหน้า เช็ดน้ำตามั่งบางครั้งได้ไหม?? 

สิ่งที่ฉันคิดถึงมากที่สุดคือลายมือตัวเอง เพราะฉันเป็นคนชอบจดบันทึกต่างๆ ฉันสะสมสมุดบันทึกสวยงาม ไว้เต็มไปหมดและฉันมีลายเซ็นต์ที่สวย ใครเห็นก็ชอบ  แต่เมื่อป่วย ลง มือข้างขวาไม่สามารถหยิบจับอะไรได้อีก ฉันคิดถึง การจรดปากกาลงเซ็นต์ชื่อมากที่สุดเลย
 เมื่อฉันลุกขึ้นนั่งได้ ฉันจึงเริ่มฝึกเขียนหนังสือด้วยมือซ้าย เผื่อต้องได้ใช้ลายเซ็นทำอะไร ฉันจึงฝึกทุกวันจนสามารถเขียนชื่อตนเองได้ค่อนข้างดี (อ่านออก) ตามที่เห็น ตอนฉัน ไปเปิดบัญชีธนาคาร ฉันให้น้องชายพาไป พนักงาน ที่ธนาคารกสิกร ก็บริการดี เค้าเข้าใจว่าฉัน อาจจะไม่มีการศึกษา ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะ เขียนหนังสือไม่ได้ แต่ พูดจารู้เรื่อง ยังไงก็ตามฉันก็สามารถ เปิดบัญชี ขอทำATM และ ขอใช้อินเทอร์เน็ต แบ้งกิ้งค์ ได้ ซึ่งมันลดปัญหาในการเดินทางไปกดเงิน เบิกเงินของฉันไปได้เป็นอย่างดี
การฟื้นฟูทางด้านร่างกาย
ถึงแม้ฉันจะใช้มือได้ข้างเดียว แต่ฉันก็พยายามฝึกใช้มือเดียวและนิ้วเดียวคือนิ้วชี้ข้างซ้าย ในการทำงาน คอมพิวเตอร์ ฉัน สามารถ ใช้เม้าส์และพิมพ์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ฉัน สื่อสารกับเพื่อนทาง เฟสบุ๊คและอีเมล์  ฉันยังช่วยแปลข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของฉัน(ในระยะแรก) อยู่เลย ระยะหลังก็หยุดไปเพราะฉันต้องมามุ่งมั่นเรื่อง กายภาพบำบัด
พูดถึงเรื่อง การพยายามฟื้นฟูร่างกาย ฉันก็ว่าฉันได้พยายามอย่างมาก ฉันฝึกทำความสะอาดห้องเอง ซักผ้าเอง รีดผ้าเอง กวาดบ้านถูบ้านได้เอง แต่ทำยังไงก็ไม่เคยถูกใจพี่สาวฉันเพราะ เธอเป็นคนเก่ง ขยันอดทน หนักเอาเบาสู้ มาตั้งแต่เด็ก ฉะนั้น ต่อให้ใคร ในโลกนี้ก็ไม่มีทาง ได้รับคำชมจากเธอ เพราะ เธอเก่งที่สุดในสามโลก ยิ่งฉัน คนขี้เกียจ หยิบโหย่ง พวกชอบทำตัวเป็นคุณนาย ไม่มีทาง ทำอะไรให้ประทับใจเธอได้  ฉัน พยายามขัดห้องน้ำเอง(ทำยังไงก็ไม่สะอาด) เพราะฉัน ไม่สามารถยืน หรือก้ม ๆ เงย ๆทรงตัวได้
 เรื่องการฟื้นฟูสมอง
ฉันอ่านในอินเทอร์เน็ต เรื่องการฟื้นฟูสมอง ว่ามีความทรงจำอยู่หรือเปล่า วิธีการก็คือมีคนชวนคุยเรื่องต่าง ๆ ในอดีต ฉันไม่มีทางมีโอกาสได้ฟื้นฟูสิ่งนี้ เพราะ ฉันถูกย้ายมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ฉะนั้น ฉันจึงเริ่มฝึกฝนด้วยตัวเอง นั่นคือการเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวต่าง ๆที่ผ่านมาในชีวิต ตลอดเวลาที่ฉันอยู่พัทยา นอกเหนือจากการสื่อสารกับเพื่อน บางคนที่ฉัน และเค้ายังจำกันได้ทาง อีเมล์  และฉันก็ยังถูกขอร้องให้ช่วยแปลข่าวลงหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของฉันต่อไป ฉันชอบการแปลข่าว เพราะ มัน มีความบันเทิงแฝงอยู่ มีความตื่นเต้นที่จะเล่าเรื่องราวตามแบบฉบับที่เราต้องการ เช่นข่าวที่ฝรั่งถูกจับเรื่อง ค้ายาเสพติด หรือ กระโดดตึกฆ่าตัวตาย แต่เรื่องจริงคือ เค้าถูก ยัดยา และที่กระโดดตึกจริง ๆ คือเค้าถูกฆาตกรรม คุณลองคิดดูสิ ถ้าคุณมี information มีข้อมูลที่ไม่เหมือนหนังสือฉบับอื่น หรือ แหล่งอื่น คุณสามารถ สร้าง แทรฟฟิค แย่งคนอ่านได้มากกว่าคู่แข่งอย่างไร
ฉันเล่าออกไปนอกเรื่องอีกแล้ว ฉันเพียงแค่จะบอกว่า ฉันชอบทุกอย่างที่ฉันทำ การฝึกฟื้นฟูความทรงจำ ในที่สุดเวลาผ่านไป 18 เดือน ฉันสามารถผลิต พ็อกเก็ตบุ๊คออกมาได้ หนึ่งเล่ม ฉันตั้งชื่อมันว่า "คนพัทยา" อ่านตัวอย่างที่นี่ เชื่อหรือไม่ว่าการเขียนหนังสือไม่ยากแต่การจัดส่ง ลำบากมาก(สำหรับฉัน) ต้อง พิมพ์รายชื่อผู้รับ ตัดรายชื่อติดแปะลงบนซองส่งเอกสาร ยากกว่าการเขียน การออกแบบ การสั่งพิมพ์ 100 เท่า คนรับคงรู้ว่ากว่าหนังสือเล่มนี้จะถึงมือเค้า คนจัดส่งคงหมดน้ำตาไปหลายหยด ไม่เชื่อคุณลองใช้มือเดียว ตัดกระดาษ ลอกกระดาษกาว ติดแปะบนซองเอกสารดูสิ........(หนังสือเล่มนี้ ทำให้ฉันแกร่งและรู้จักคนมากขึ้น!
ข้อควรระวัง
การหกล้ม
ไม่มีคนป่วยอัมพฤกษ์คนไหนที่ไม่เคยหกล้ม ยิ่งคุณเคลื่อนไหวมาก มีกิจกรรมเยอะ คุณก็เสี่ยงกับการหกล้มแน่นอน โดยเฉพาะ ในห้องน้ำที่มักจะเปียกและลื่น

แขนข้างขวาของฉันมันก็ยังห้อยอยู่เหมือนเดิม หลายครั้งที่ฉันพยายามากเกินไป จนหกล้ม ไม่มีคนเห็น ฉันพยายามลุกอย่างลำบาก และ คิดถึงเรื่องการใช้วิลแชร์ แต่ในที่สุด ฉันก็ลุกขึ้นมาสู้ใหม่..วิลแชร์เป็นสัญญลักษณ์ของ"คนยอมแพ้"
ฉันพยายามค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานฟื้นฟู จนมีโอกาสได้ไปฝึกฝนเรียนรู้และ รับการรักษาที่
" วัดทุ่งบ่อแป้น" อ.ห้างฉัตรจ. ลำปาง เป็นเวลา เพียง 7 วัน เพราะ สภาพของฉันดีเกินกว่าจะไปเสียเวลาอยู่ในกลุ่มคนป่วยส่วนใหญ่ที่ช่วยตัวเองไม่ได้จริง ๆ แบบนั้น ในที่สุดฉันก็กลับบ้านมาฟื้นฟูตัวเอง

ฉันรู้ว่าฉันเสียใจกับการสูญเสียคนที่ฉันเคยเป็นหรืออย่างน้อยบางสิ่งที่ฉันอยากจะทำ แต่ครอบครัวของฉันทั้งหมดดูเหมือนจะดีใจและชื่นชมยินดีและประหลาดใจกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ฉันสามารถทำได้ เชื่อหรือไม่ตอนนี้ฉันสามารถขี่จักรยานได้แล้ว!ยาฮู้ !YAHOO!!
ฉันพยายามกลับมาฝึกโยคะโดยเริ่มจากท่าเบสิคก่อน




 คิดว่าไม่มีอะไรเกินความสามารถมนุษย์หรอก อาจจะใช้เวลานานกว่าคนปรกติ แต่เม่ื่อได้ตัดสินใจทำแล้ว ก็ต้องตัดสินใจสำเร็จด้วย ใช่ไหมคะ
 ในที่สุดฉันก็เดินได้แล้วค่ะ ( 15 เมษายน 2558)
                
อ่านเรื่อง   

ฉันผู้รอดชีวิตมาจากโรคเส้นเลือดในสมองแตก


อ่านเรื่อง โรคSTROKE ที่นี่ค่ะ 



ข้อแนะนำ
การดูแลคนไข้ในกลุ่มที่มีปัญหาหลอดเลือดสมองจะตีบหรือแตกก็แล้วแต่เป็นงานหนักทีเดียวเลย ตัวคนดูแลต้องมีความเข้าใจคนไข้มากๆ อดทนสูง เพราะลำพังเดินไม่ได้ ทำอะไรเหมือนที่เคยทำด้วยตัวเองไม่ได้คนไข้ก็หงุดหงิดมากแล้ว ยังต้องกินยา ทำกายถาพ แถมอาหารบางคนก็ต้องรับทางสายยางอะไรต่ออะไรมากมาย
ส่วนคนดูแลก็คงเหนื่อยทั้งกายทั้งใจพอๆกัน ยังไงขอเอาใจช่วยจริงๆนะคะ ในเบื้องต้นจะขอตอบปัญหาที่ถามมาค่ะ ไม่ใช่หมอนะคะ ตอบในฐานะคนมีประสบการณ์ตรง

หมายเหตุ:
ขอเอาคำถามที่ส่งมา มาโพสต์ที่ความเห็นด้านล่างนะคะ  หวังว่าคงมีประโยชน์กับผู้อ่านคนอื่น ๆ นะคะ
ส่วนคำถามยาวๆหรือส่วนตัวจริงๆ ส่งทางอีเมล์นะคะ (เก็บเป็นความลับค่ะ)
อีเมล์ maywarina@gmail.com

22 ความคิดเห็น:


  1. สวัสดีค่ะ คุณวารีนา ขอเข้ามาคุยด้วยคนนะคะ เพราะอยู่ระหว่างการต่อสู้ (ด้วยความงงๆ ในชีวิต) เหมือนกันค่ะ
    ใช่ค่ะ admit รพ. เมื่อ 16 ก.ค.56 (เกือบ 4 เดือนแล้ว) ด้วยอาการหลอดเลือดสมองตีบ (stroke) โชคดีบ้างคือ
    ตีบเล็กๆ อาการจึงไม่หนักมาก จึงฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว และกลับเข้าทำงานเมื่อ 15 ส.ค. (เพราะลางานได้ไม่เกิน
    1 เดือน) ปัจจุบัน พบหมอเดือนละครั้ง เพื่อติดตามอาการและรับยา (ก็แพงอยู่ค่ะ) สภาพคืนกลับราว 90%
    ซีกขวายังหนักและชาตลอด 24 ชั่วโมง ราว 10% ที่หายไปคือ การทรงตัว การพูด+การสื่อสาร ความเข็งแรง การกลืน อ้อ ! ตอนนี้อายุ 40 กว่าๆ ค่ะ ที่เข้ามาคุย เพราะอยากพูดคุยเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ (ว่ามีสิทธิ์หายไหม ต้องทำอย่างไร ต้องใช้เวลาเท่าไร) เพราะคนรอบข้างแม้กระทั่งคุณหมอ (ซึ่งช่วยดูแลกันอยู่) ก็ไม่สามารถให้ข้อมูลกันได้ (เพราะเขาอยู่ในสภาวะปกติ) ค่ะ ถ้าไม่รบกวนเกินไป ก็ช่วยติดต่อมาที่ benchitra@gmail.com
    ด้วยนะคะ ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
    อี๊ด

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอเอาคำถามของคุณอิ๊ดมาโพสต์และตอบที่นี่นะคะ

      ลบ
  2. ปีแรกน่ะ เป็น GOLDEN PERIOD จริง ๆนะคะ ดีใจด้วย คิดว่าคุณมีโอกาส หายเกือบ 100% ถ้าคุณไม่ขี้เกียจ บำบัด ดิฉัน ลองทุกอย่าง ที่ดีที่สุดคือการเดินค่ะ เดิน และเดินเร็ว ขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ การกลืน จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่อาการ ที่เหมือนมีเสมหะในลำคอ จะไม่มีทางหายไปเลยค่ะ เรื่องทานยา ก็ต้องศึกษาทุกตัวค่ะ ดิฉัน ไม่เห็นด้วยกับการทานยาเยอะ ๆ เพราะ มันจะมีผลกับ ไต ตับ มาเป็นพวง
    ทดลอง โพสต์ที่นี่ก่อนนะ
    เดียวอาจจะหาวิธีคุยกันทางอื่น
    สู้ ๆๆ ค่ะ

    ตอบลบ
  3. ถ้าไม่ได้ใช้ gmail ก็สามารถคลิกเลือก โพสต์ด้วย เมนู "ชื่อ / URL " ไม่ใส่ URL ก็ได้ค่ะ

    ตอบลบ
  4. สวัสดีค่ะ พอดีพี่สาวเป็นน่ะค่ะ ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ข้อมูลเป็นประโยชน์มากค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เพื่อหาคำตอบได้ง่าย ลอง โพสต์ด้วย เมนู "ชื่อ / URL " ไม่ใส่ URL ก็ได้ค่ะ แต่กรอกชื่อปลอมไปก็ได้ค่ะ ถ้าอยากใส่ URL ของ เฟสบุ๊คก็ได้ค่ะ

      ลบ
  5. ดีใจจังที่ได้รับคำตอบจากคุณวารีนา ขอบคุณค่ะ ใช่ค่ะ หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลด้วยโรค stroke ก็จำเป็นต้องออกกำลังกายทุกวัน ราว 45 นาที ด้วยการเดิน และยืดเหยียดด้วยเส้นยางยืด เพราะถ้าไม่ออก 1-2 วัน เจ้าอาการหนักขวาจะเพิ่มมากขึ้นค่ะ ที่กังขาก็คือ เจ้าอาการหนักขวาจะจรลีจากตัวเรา แบบว่าไปแล้วไปลับไหมคะ และต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร เพราะรู้สึกว่า พอผ่านพ้นไป 2 เดือน อาการก็ทรง ๆ อยู่อย่างนี้ ราวกับว่าไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเลย หรือว่าเราจะใจร้อนไปเอง : ( และนอกจากอาการหนักซีกขวาแล้ว ยังมีเรื่องของความเหนื่อย เพลีย ตลอดเวลา และ อาการง่วงเกือบทั้งวัน คนเป็นโรค stroke เค้าเป็นอย่างนี้กันไหมคะ และนานกี่เดือนถึงจะหายคะ ? ใครที่พอรู้ ช่วยบอกต่อทีค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เพื่อหาคำตอบได้ง่าย ลอง โพสต์ด้วย เมนู "ชื่อ / URL " ไม่ใส่ URL ก็ได้ค่ะ แต่กรอกชื่อปลอมไปก็ได้ค่ะ ถ้าอยากใส่ URL ของ เฟสบุ๊คก็ได้ค่ะ

      ลบ
    2. อาการง่วงเกือบทั้งวัน ไม่ใช่เกิดจากโรคนี้ค่ะ แต่เป็นเพราะยาที่คุณทาน มันจะมียาประเภทPain Killer ปนอยู่เสมอค่ะ ทั้งยาคลายกล้ามเนื้อ ยาควบคุมความดัน ซึ่งมักจะให้เราทานหลังอาหารเช้า จริง ๆ ทานก่อนนอนก็ได้ (ยาความดัน ทานทุก 24 ชั่วโมง) เราก็เลี่ยงมาทานก่อนนอน ทุกคืนแทน ที่หมอสั่งหลังอาหารเพื่อจำง่าย ไม่ลืม และคนป่วยเค้าก็คาดหวังให้เรานอนพักผ่อน ดูเป็นคนป่วยมังคะ จริง ๆ แล้วคนป่วยโรคนี้ ถ้าสมองไม่เสียหายมาก เค้าก็ยัง Alert คิด(มาก)ได้เหมือนคนปรกติค่ะ แต่กดดันและเครียดมาก ๆ เพราะ คิดแล้วทำไม่ได้

      ลบ
  6. วันนี้เพิ่งได้เข้ามาอ่านนะคะ ขอโทษด้วยค่ะ หมู่นี้ (ผ่านไปเกือบ 3 ปี ) อยากจะบอกว่าเรื่องอารมณ์สำคัญที่สุดค่ะ
    ท้อแท้ในบางครั้ง แต่ก็ต้อง คลานออกมาจากที่นอน ทำกิจวัตรประจำวัน อาบน้ำออกกำลังกายประเภทSTRECHING ยืดเส้น ยืดสาย บางคนเลือกการนวด(คลายเส้น) มันก็ได้เหมือนกันค่ะแต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะสำหรับบางคน ดิฉันโชคดีที่มีตู้อบอินฟราเรดค่ะ ซื้อไว้ตั้งแต่ยังปรกติดี มันช่วยได้มากเลยค่ะ เสียดายวงการแพทย?บ้านเราไม่สนับสนุนเลย เดียวมาคุยเรื่องนี้ค่ะ ต่อไปคงได้มาโพสต์บ่อยขึ้นนะคะ

    ตอบลบ
  7. อาการง่วงเกือบทั้งวัน ไม่ใช่เกิดจากโรคนี้ค่ะ แต่เป็นเพราะยาที่คุณทาน มันจะมียาประเภทPain Killer ปนอยู่เสมอค่ะ ทั้งยาคลายกล้ามเนื้อ ยาควบคุมความดัน ซึ่งมักจะให้เราทานหลังอาหารเช้า จริง ๆ ทานก่อนนอนก็ได้ (ยาความดัน ทานทุก 24 ชั่วโมง) เราก็เลี่ยงมาทานก่อนนอน ทุกคืนแทน ที่หมอสั่งหลังอาหารเพื่อจำง่าย ไม่ลืม และคนป่วยเค้าก็คาดหวังให้เรานอนพักผ่อน ดูเป็นคนป่วยมังคะ จริง ๆ แล้วคนป่วยโรคนี้ ถ้าสมองไม่เสียหายมาก เค้าก็ยัง Alert คิด(มาก)ได้เหมือนคนปรกติค่ะ แต่กดดันและเครียดมาก ๆ เพราะ คิดแล้วทำไม่ได้ ขอออกไปเดินแป๊ปนะคะ วันนี้จะตอบคำถามให้ครบค่ะ

    ตอบลบ
  8. เพื่อหาคำตอบได้ง่าย ลอง โพสต์ด้วย เมนู "ชื่อ / URL " ไม่ใส่ URL ก็ได้ค่ะ แต่กรอกชื่อปลอมไปก็ได้ค่ะ ถ้าอยากใส่ URL ของ เฟสบุ๊คก็ได้ค่ะ นี่คือ เฟสบุ๊ค แฟนเพจ ดิฉันค่ะ https://www.facebook.com/pages/May-Warina/311235145684581?ref=hl
    ก็อปไปแอดได้ค่ะ

    ตอบลบ
  9. แม่เป็นโรคนี้ค่ะ ป่วยมานานเกือบ 10 ปี ท่านนอนอยู่เฉย ๆ เดินไม่ได้ แต่พลิกตัวได้ พวกเราจ้างพยาบาลมาดูแล แม่ไม่มีแผลกดทับ เนื้อตัวสะอาด หมดค่ารักษาไปเยอะมาก )ประกันไม่จ่ายแล้วค่ะ เพราะหลายปีแล้ว ไปหาหมอตามนัดเพราะแม่มีโรค ไตด้วย สงสารแม่มากค่ะ อยากให้แม่ไม่เครียด

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ลูกและคนใกล้ชิด คือพยาบาลที่ดีที่สุดค่ะ อ่านหนังสือให้ฟังก็ดีค่ะ อย่าปล่อยให้ท่านอยู่คนเดียว นานเกินไป บางที เงินทองก็ไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต

      ลบ
  10. ว่าง ๆ ลองอ่าน บทความสั้น ๆ นี้ดูนะคะ ไม่ได้ให้ปลงมากมาย แต่ มันเป็นเรื่องจริง เห็นไหมว่ามันเป็นแก้วที่แตกแล้ว?? ก็อปเอา URLข้างล่าง นี้ไปวางในแถบ แอดเดรด บาร์ เปิดหน้าต่างใหม่นะคะ
    http://thaistrokesurvivor.blogspot.com/2013/10/blog-post.html

    ตอบลบ
  11. อ่านเรื่องนี้หรือยังคะ สาเหตุที่มึงป่วยเพราะ...โง่
    http://thaistrokesurvivor.blogspot.com/2013/11/blog-post.html

    ตอบลบ
  12. เรื่องการนอนทับข้างใดข้างหนึ่งไม่ยอมนอนอีกข้างหนึ่ง ต้องทำยังไงครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ควรจะต้องสลับข้างนอนพลิกตัวอยู่ทุกๆ2 ชม. แต่ถ้ามีเตียงลมก็จะพอช่วยเรื่องความเสี่ยงเป็นแผลกดทับมากขึ้น เรื่องข้อติดเป็นอีกเรื่องที่เป็นปัญหาในคนไข้กลุ่มอัมพฤกษ์อัมพาต เกิดขึ้นได้แน่ๆค่ะ เพราะข้างที่อ่อนแรงไม่ค่อยได้ใช้งาน ยิ่งไปนอนทับมันอีก โอกาสที่จะเหยียดงอก็ยิ่งน้อย ยังไงคงต้องพยายามเปลี่ยนข้างค่ะ และขยันทำกายภาพบำบัดตามที่นักกายภาพสอนมา เพื่อให้ข้อไม่ติดและกล้ามเนื้อไม่ฝ่อเร็วเกินไป ช่วง 6เดือนแรกหลังเริ่มมีอาการเป็นช่วงเวลาทองในการฟื้นฟูร่างกายเลยค่ะ ขยันทำกายภาพจะช่วยให้คนไข้จำนวนมากกลับมาใช้แขนขาได้ปกติมากขึ้นมากๆ สำคัญที่สุดคือกำลังใจค่ะ อย่าสั่ง อย่าใช้กิริยา อาการรำคาญหรือหงุดหงิดเป็นอันขาด .. มันมีผลกับจิตใจของคนป่วยมากกกค่ะ

      ลบ
    2. ใช้วิธีมัดติดเตียงเพื่อไม่ให้นอนทับข้างนั้นข้างเดียวได้ไหมครับ

      ลบ
    3. ไม่สมควรอย่างยิ่งค่ะ ถึงจะไม่ใช่พ่อแม่เรา ถ้ายังพอพูดคุยด้วยเหตุผลกันรู้เรื่องอย่าทำเด็ดขาดค่ะ เพราะมีผลทางด้านจิตใจคนไข้แน่ๆมันจะกลายเป็นบังคับให้ทำอย่างที่เราอยากให้เป็น โดยที่คนไข้ไม่มีสิทธิเลือก ยังไงแนะนำให้ลองคุยกันก่อน เข้าใจว่าน่าจะยังสามารถสื่อสารกันได้ คือท่านสามารถเข้าใจที่เราอธิบายได้ ถ้าไม่ไหวจริงๆ ให้คุณหมอที่ดูแล หรือคนที่คนไข้เคารพนับถือ เป็นคนพูดคุยอธิบายก็ได้ อาจจะยอมรับฟังมากกว่า เด็กวัยรุ่น ที่ถูกบังคับให้มาดูแลคนไข้ จะยิ่งทำให้คนไข้ ย่ำแย่ไปมากกว่าเดิมค่ะ

      ลบ
  13. รักพ่อเท่าฟ้า22 พฤศจิกายน 2556 เวลา 22:06

    คุณพ่อผมเพิ่งออกจากโรงพยาบาลครับ คุณหมอให้ทำกายภาพเองครับ เพราะที่รพ. ไม่มีอุปกรณ์พอ แต่ที่เจ้าหน้าที่แนะนำผมยังจับต้นชนปลายไม่ถูกครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ลองก็อปเอาลิ้งค์นี้ไปเปิดดูนะคะ อยู่ในบล็อกนี้แหละค่ะ แต่มันเยอะจัด คงหาไม่เจอหรอกค่ะ
      http://myfightforliving.blogspot.com/2013/07/rehabilitation.html

      ลบ