ไวรัสโควิด-19 เป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์หนึ่ง ที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยมุ่งทำลายปอดและมีอันตรายถึงชีวิต เหตุที่โรคนี้แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วนั้น เกิดจากการที่เซลล์ในเยื่อบุจมูกถูกไวรัสเกาะจับได้ง่าย และเมื่อไวรัสเพิ่มปริมาณในช่องจมูกและช่องปากมากขึ้น ก็ทำให้เกิดการแพร่กระจายผ่านละอองฝอยของน้ำลายและน้ำมูกได้ง่ายขึ้น ดังนั้น...
“การตรวจให้รู้ว่า เราได้รับเชื้อ COVID-19 หรือไม่
จึงมีความสำคัญทั้งในเชิงการรักษา
และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค”
การตรวจ RT-PCR หาการติดเชื้อ COVID-19 คืออะไร
การตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (RT-PCR) ในระบบทางเดินหายใจ แบบ Real-time โดยใช้ก้านพลาสติกปลายนุ่มป้ายเยื่อบุในคอหรือเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก ที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่าการทำ Swab ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพราะผลที่ได้มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยได้ จึงตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการเกิดโรค รวมถึงยังเป็นวิธีตรวจติดตามผลการรักษาด้วย
ขั้นตอนในการตรวจ RT-PCR หรือ Swab
ในหลายสถานพยาบาล กำหนดให้ผู้ที่ต้องการตรวจ RT-PCR หรือ Swab จะต้องนัดหมายผู้ให้บริการหรือ รพ. ล่วงหน้า เพราะเป็นการตรวจที่ต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องของความปลอดภัยและการปลอดเชื้อเป็นพิเศษ ทั้งจะต้องทำแบบคัดกรองเพื่อเป็นการเก็บข้อมูลและประเมินความเสี่ยงก่อนด้วย
เมื่อถึงวันนัดตรวจ บุคลากรทางการแพทย์ จะใช้ก้านเก็บตัวอย่างแหย่เข้าไปในโพรงจมูก(nasopharyngeal swab) จนปลายแท่งชนกับผนังโพรงจมูกด้านในแล้วแช่ค้างไว้สักครู่เพื่อซับสารคัดหลั่ง และทำการหมุนเบาๆ 2-3 ครั้ง เพื่อเก็บเนื้อเยื่อ หรือแหย่ก้านเก็บตัวอย่างไปที่หลังลำคอ (throat swab) และทำลักษณะเดียวกัน โดยอาจทำที่ใดที่หนึ่ง หรือทั้งสองที่ แต่ใช้ก้านสำลีแยกกัน
ผู้ตรวจจะจัดเก็บก้านสำลีที่มีตัวอย่างเชื้อไว้ในหลอดเก็บเชื้อที่เรียกว่า หลอด UTM/VTM เพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อ อันจะช่วยให้ตรวจหาเชื้อได้ง่ายขึ้น
หลังจากนั้น ผู้รับบริการจะได้รับคำแนะนำในการกักตัว เพื่อรอรับผลการตรวจตามช่องทางต่างๆ เช่น E-mail, SMS หรือทางโทรศัพท์ภายใน 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณคิวในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ควรสอบถามผู้ให้บริการให้แน่ใจ และในกรณีที่ต้องการใบรับรองแพทย์ให้แจ้งกับผู้ทำการตรวจ
ใครบ้างที่ควรตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยการทำ RT-PCR หรือ Swab
สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการคล้ายๆ หรือสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อ โควิด-19 หรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว เมื่อร่างกายได้รับเชื้อจะแสดงอาการภายใน 2-14 วัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ดังนั้นเราจึงควรสำรวจตัวเองก่อนว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ดังนี้
มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง หรือไปในสถานที่ที่มีการแพร่ระบาด
ได้อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่ยืนยันว่ามีการติดเชื้อ
เป็นผู้ที่มีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอแห้ง เจ็บคอ มีผื่น ตาแดง ท้องเสีย อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย มีน้ำมูก สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส โดยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังกล่าว
เป็นบุคลากรผู้ให้การตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้าในตลาด เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ผู้ให้บริการสายการบิน รถสาธารณะต่างๆ
หากสำรวจแล้ว พบว่าตนเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่มีอาการ ให้กักตัว พักผ่อนและกินยาตามอาการ หากผ่านไป 48 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้พิจารณาไปทำการตรวจหาเชื้อ
ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีประวัติเสี่ยง ควรกักตัวอยู่บ้านอย่างน้อย 14 วัน โดยแยกตนเองออกจากคนในบ้าน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดรับประทานอาหารและใช้ของร่วมกัน ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้ายแล้วล้างห้องน้ำให้สะอาด และหากเริ่มมีอาการป่วยระหว่างกักตัว ให้รีบไปตรวจหาเชื้อ โดยขับรถส่วนตัวไปโรงพยาบาล หรือเรียกรถพยาบาลมารับ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
ทั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยที่ยังสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ ดังนั้นหากต้องการความสบายใจก็สามารถไปตรวจได้ แม้ไม่จำเป็นนัก ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการและไม่มีประวัติเสี่ยงเลยนั้นไม่จำเป็นต้องไปตรวจแต่อย่างใด
การตรวจหาภูมิคุ้มกัน COVID-19 ด้วยชุดทดสอบ Rapid test
สำหรับการตรวจด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว (Rapid test) เป็นการตรวจจากหยดเลือดเพื่อคัดกรองเบื้องต้นว่าร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันหรือไม่ (IgM/IgG Antibody Test) ไม่ได้การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยตรง การตรวจด้วยวิธีนี้ควรทำเมื่อมีอาการแล้ว 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อแล้ว 10-14 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว หากตรวจในช่วงอื่นจะทำให้ผลตรวจไม่แม่นยำ ทั้งนี้การตรวจจะต้องทำในสถานพยาบาล เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้น้ำยาดังกล่าวได้เฉพาะในสถานพยาบาล และทำการตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น