"อาการสะอึก" ไม่ใช่โรค จริง ๆแล้ว อาการสะอึกน่าจะหายไปได้เอง ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ก็มีวิธีการทางภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อาจช่วยให้อาการสะอึกหายได้เร็วขึ้น โดยเชื่อว่าวิธีการเหล่านี้สามารถขัดขวางการรีเฟล็กซ์ที่ทำให้เกิดอาการสะอึกได้ เช่น
1.สูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วกลั้นหายใจไว้สักพัก นับ 1-10 จากนั้นหายใจออก แล้วดื่มน้ำตามทันที หรือกลั้นหายใจไว้ แล้วกลืนน้ำลายให้ได้ 3 ครั้ง แล้วหายใจตามปกติ หรืออีกวิธีให้แหงนหน้า แล้วกลั้นหายใจ นับ 1-10 จากนั้นให้หายใจออกทันที แล้วดื่มน้ำตาม 1 แก้ว
2.การหายใจเข้าออกในถุงปิดหรือถุงกระดาษ โดยเอาถุงมาครอบปากและจมูก แล้วหายใจในถุง ทนไว้สักพักจนเริ่มไม่ไหว หายใจหอบสั้น ๆ ประมาณ 1-2 นาที อาการสะอึกก็จะหายไป หรือให้ใช้มือป้องปากและปิดจมูกไว้ แต่ยังหายใจต่อเรื่อย ๆ ตามปกติ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยระงับอาการสะอึกได้ เนื่องจากได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมากขึ้นนั่นเอง
3.ดื่มน้ำถูกวิธีก็ช่วยแก้สะอึกได้ !! มีหลายวิธีเช่น การดื่มน้ำรัว ๆ 9 อึก การจิบน้ำจากแก้วเร็ว ๆ หลาย ๆ อึก ติด ๆ กัน หรือจิบน้ำเย็นจัดหรือดื่มน้ำเย็นจัดช้า ๆ ตลอดเวลาและกลืนติด ๆ กันไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการสะอึกจะหาย หรือจนกลั้นหายใจไม่ได้
4.ให้ก้มโน้มตัวไปข้างหน้าในระดับเอวแล้วดื่มน้ำจากขอบแก้วด้านตรงข้ามหรือด้านที่ไกลจากริมฝีปาก (ให้ใส่น้ำให้เต็มแก้วนะครับแล้วค่อย ๆ ดื่มจากขอบแก้ว) เห็นว่าหลายคนใช้วิธีนี้แล้วได้ผลมาก ๆ หรืออีกวิธีที่ง่ายกว่า ให้อมน้ำไว้ คางชิดอก แล้วพยายามกลืนน้ำที่อมไว้ รอบเดียวรู้เรื่อง !!
5.กินของเปรี้ยวจัด เช่น น้ำมะนาว 100% โดยบีบมะนาวให้ได้สัก 1 ช้อนชา แล้วนำมาจิบแก้สะอึก หรือกลืนน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ลสัก 1 ช้อนชา ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยจู่โจมปุ่มรับรสและทำให้หายสะอึกได้อย่างรวดเร็ว
6.กินน้ำตาลทรายเม็ดโดยไม่ดื่มน้ำตาม จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พบว่า การกลืนน้ำตาลทรายเปล่า ๆ 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่ต้องใช้น้ำ) สามารถช่วยแก้อาการสะอึกได้ถึง 19 คน จากจำนวน 20 คน !!
7.นอกจากกลืนน้ำตาลที่ใช้ได้ผลดีแล้ว การกลืนก้อนข้าว ก้อนขนมปังหรือเคี้ยวขนมปังแห้ง ๆ ก้อนน้ำแข็งเล็ก ๆ หรือกลืนน้ำแข็งบดละเอียดก็ช่วยได้เหมือนกัน
8.ลองเนยถั่ว 1 ช้อนชาแบบพูน ๆ ระหว่างที่เคี้ยวและดุนให้เนยถั่วเหนียว ๆ หลุดจากลิ้นและฟัน รูปแบบการกลืนกับการหายใจจะถูกขัดจังหวะ และอาจทำให้อาการสะอึกหายไปได้
9.ใช้นิ้วมืออุดหูประมาณ 20-30 วินาที หรืออุดหูไปด้วยแล้วดูดน้ำจากหลอดไปด้วย หรืออีกวิธีให้กดผิวเนื้อนุ่ม ๆ ด้านหลังติ่งหูบริเวณที่ต่อจากกะโหลกศีรษะ วิธีนี้จะช่วยส่งสัญญาณผ่อนคลายผ่านเส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve) ซึ่งเป็นส่วนที่ทอดยาวจากก้านสมองและเชื่อมต่อกับบริเวณกะบังลม
10.ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้จับลิ้นแล้วดึงออกมาข้างหน้า หรือแลบลิ้นออกมายาว ๆ เพื่อช่วยเปิดหลอดลมที่ปิดอยู่
11.ใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งบีบจมูกค้างไว้แล้วดื่มน้ำเข้าไปประมาณ 7 อึก (หรือจนกว่าจะกลั้นหายใจไว้ไม่ไหว) โดยที่ยังบีบจมูกไว้จนรู้สึกว่าลมดันออกที่หู เขาบอกว่าทำแบบนี้ไม่เกิน 3 ครั้ง หายชะงัดนัก !
12.กดจุดแก้สะอึก เป็นเคล็ดลับทางการแพทย์แผนจีน ก่อนกดจุดให้นั่งหลังตรงหรือนอนหงาย จากนั้นใช้นิ้วโป้งกดลงที่หัวคิ้วพร้อมกันทั้งสองข้าง (จุดจ่านจู๋) ส่วนที่เหลืออีกสี่นิ้วให้จับหัวไว้ ให้กดเบา ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ แรงขึ้น โดยกดแบบเบาสลับหนักค้างไว้จนกว่าจะหายสะอึก ทำประมาณ 3-6 นาที พอหายสะอึกจึงหยุดกด
13.กดจุดโดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งบีบตรงเนินเนื้อที่อยู่ต่อจากนิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่งไว้ ยิ่งแรงยิ่งดี หรืออีกวิธีหนึ่งให้กดจุดบริเวณร่องเหนือริมฝีปาก เพราะแรงกดบีบจะช่วยเบี่ยงเบนระบบประสาทของคุณจากอาการสะอึกได้
14.นวดเพดานปาก
15.เขี่ยภายในรูจมูกให้จาม แล้วจะหายสะอึกทันที !!
16.กำหนดลมหายใจเข้า-ออกปกติ พยายามเพ่งไปที่ลมหายใจอย่างเดียว แล้วจะสังเกตว่าระยะการสะอึกจะค่อย ๆ ยาวขึ้น ๆ ช่วงแรก ๆ จะยังสะอึกอยู่บ้าง เมื่อทำไปเรื่อย ๆ อาการสะอึกจะหายไปเอง
17.การทำให้ตกใจ เช่น ตบหลังแรง ๆ โดยไม่ให้รู้ตัวมาก่อน หรือทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ ตื่นเต้น หรือกลัว หรือทำการเบี่ยงความสนใจ เช่น ถามว่า "น้ำเต้าหู้ทำมาจากอะไร?" อะเมซิ่งมาก มันหายจริง ๆ !
18.การดมสารที่มีกลิ่นฉุน เช่น แอมโมเนีย
19.ถ้าเป็นเด็กอ่อนหรือทารกสะอึกก็ควรอุ้มพาดบ่าใช้มือลูบหลังเบา ๆ ให้เรอ
20.ส่วนวิธีอื่น ๆ ที่ใช้แล้วอาจได้ผลก็มีหลายวิธี เช่น บ้วนปาก, เคี้ยวหัวข่าแก่ ๆ กินน้ำ, คาบปากกาไว้แล้วดื่มน้ำ, กินซอสเผ็ด ๆ, กลืนน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น (น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา), กลืนผงโกโก้หรือโอวัลติน, ค่อย ๆ เคี้ยวแล้วกลืนเมล็ดผักชีลาว, ใช้กระดาษเช็ดมือปิดฝาแก้วที่มีน้ำดื่ม แล้วพยายามดื่มน้ำ (เมื่อคุณใช้แรงดูดน้ำผ่านกระดาษจะทำให้กะบังลมต้องออกแรงมากขึ้น จึงช่วยต้านอาการกระตุกของกล้ามเนื้อได้ การสะอึกถ้าเป็นติดต่อกันหลายวัน ถือเป็นอาการไม่ปกติ คุณควรไปพบแพทย์ เพราะอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ได้ เช่น มีความผิดปกติทางสมอง การเป็นโรคทางเดินอาหาร การเป็นอัมพาต การอักเสบในช่องท้องบริเวณกะบังลม โรคหลอดเลือดสมองตีบ ฯลฯ แต่ส่วนมากผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยการสะอึกเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ก็เนื่องมาจากมีอาการผิดปกติทางสมองหรือเป็นอัมพาต ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถให้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการสะอึกได้
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com - https://www.terrabkk.com/articles/196881
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น