วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

การฝังเข็ม (Acupuncture) คืออะไร

 


ฝังเข็มศาสตร์จีน : ฝังเข็มคืออะไร ? รักษาโรคอะไรได้บ้าง ?

 การฝังเข็ม (Acupuncture) คืออะไร

การฝังเข็ม คือศาสตร์หนึ่งในแพทย์แผนจีน ซึ่งชาวจีนใช้กันมานานกว่า 4,000 ปี โดยมีหลักการคือ การใช้เข็มขนาดเล็กมาก ฝังตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย ซึ่งเป็นจุดที่มีพลังงานมากกว่าจุดอื่นๆ เพื่อทำให้พลังงาน และอวัยวะต่างๆของร่างกายที่เสียสมดุลไป กลับมาอยู่ในภาวะสมดุล

โดยในปัจจุบันองการอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การยอมรับว่าการฝังเข็มในโรคบางชนิดได้ผลดีมาก รวมทั้งล่าสุดยังมีหลายงานวิจัยพบว่า โรคบางโรค เช่น กรดไหลย้อน ปวดหัว ปวดศีรษะไมเกรน การรักษาด้วยการฝังเข็มให้ผลการรักษาดีเทียบเท่า หรือ มากกว่าการใช้ยา โดยปลอดภัย และ ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาอีกด้วย

 

การฝังเข็ม รักษาโรคอะไรได้บ้าง ?

ผู้ที่มีอาการต่อไปนี้พบว่า การรักษาด้วยการฝังเข็มได้ผลดีมาก

  • ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน เวียนศีรษะ บ้านหมุน
  • นอนไม่หลับ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า
  • ปวดบริเวณต่างๆ ปวดเข่า เข่าเสื่อม ปวดหลัง ปวดเอว ปวดคอ
  • หมอนรองกระดูก- กระดูกทับเส้นประสาท
  • ปวดไหล่ ไหล่ติด ปวดข้อศอก ปวดข้อเท้า ปวดฝ่าเท้า เอ็นอักเสบ
  • ภูมิแพ้ หอบหืด โรคข้อต่างๆ รูมาตอยด์
  • โรคกระเพาะ กรดไหลย้อน
  • ปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนผิดปกติ
  • ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต อัมพาตใบหน้า
  • ปรับสมดุลร่างกายให้แข็งแรง เพิ่มภูมิต้านทาน
  • ฝังเข็มกระชับใบหน้า ความงาม ลดความอ้วน

 

วิธีการฝังเข็ม

  • แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กมาก (0.1-0.3mm) (ขนาดเข็มเล็กกว่าเข็มฉีดยาทั่วไปประมาณ 6-8 เท่า จึงเจ็บน้อยกว่า ส่วนใหญ่จะเจ็บเพียงเล็กน้อย) ฝังตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย อาจใช้มือหมุนเข็มเพื่อกระตุ้นเล็กน้อย หรือใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย โดยใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที หลังจากนั้นถอนเข็มออก
  • โดยทั่วไป ควรฝังเข็มประมาณสัปดาห์ละหนึ่งถึงสามครั้ง ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 ครั้ง หรือ ขึ้นกับพิจารณาของแพทย์ หรือ อาการของผู้ป่วย

 

ผู้ที่ไม่ควรฝังเข็ม

  • เป็นโรคติดเชื้อต่างๆ
  • เป็นโรคมะเร็งที่ยังไม่ได้รักษา
  • เป็นโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

 

ทำไมต้องรักษาด้วยการฝังเข็ม?

  • การฝังเข็มเป็นการมุ่งเน้นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ควบคู่ไปกับอาการ

ดังนั้นโรคบางโรคที่เราต้องกินยาเพื่อบรรเทาอาการปลายเหตุบ่อยๆ เช่น ปวดศีรษะไมเกรน กรดไหลย้อน สามารถหายขาดได้ หากไม่มีปัจจัยกระตุ้นอีก

นอกจากนี้ การฝังเข็มยังช่วยบำรุง และปรับสมดุลของร่างกาย ป้องกันไม่ให้เป็นโรคอื่นๆจากสาเหตุเดียวกันนี้อีกด้วย เพราะศาสตร์จีนเป็นการรักษาแบบองค์รวม ไม่ได้แยกรักษาตามอาการ หรือโรคต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดี แบบองค์รวม มากกว่ารักษาแค่ตัวโรค

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาและสารเคมีเข้าในร่างกายโดยไม่จำเป็น

เป็นที่ทราบกันดีว่า ยารักษาโรคต่างๆแม้จะมีข้อดี แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากผลข้างเคียงของยามากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ มีผลต่อตับ ไต กล้ามเนื้อ ถ้าเป็นมากเช่น ยาแก้ปวดแบบแรง ยาคลายเส้น ยาแก้ยอกต่างๆ อาจทำให้ไตวาย เลือดออกในกระเพาะได้ หรือ หากเลี่ยงไปใช้ยาแก้ปวดแบบที่ลดความเสี่ยงเรื่องโรคกระเพาะที่ราคาแพง ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น

ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ว่ายาไม่มีข้อดีเลย เพียงแต่เราควรใช้ยาแต่จำเป็นเท่านั้น และเป็นทางเลือกท้ายๆหลังจากการปรับพฤติกรรมการกิน การนอน การออกกำลังกายแล้ว ซึ่งการฝังเข็มก็จะเข้ามามีบทบาทตรงนี้ คือ หลังจากปรับพฤติกรรมแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ก่อนการใช้ยาก็สามารถใช้การรักษาด้วยการฝังเข็มได้ โดยเฉพาะโรคปวดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง หากกินยาเป็นประจำก็จะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น เนื่องจากการฝังเข็มสามารถลดอาการปวดได้ดีมาก ซึ่งปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังยอมรับแล้ว

บางคนไม่สามารถแก้ที่ต้นเหตุได้ เช่น ข้อเข่าที่เสื่อมไปแล้ว การฝังเข็มก็จะช่วยลดการใช้ยาได้ บางคนไม่ต้องกินยาอีกเลย จากที่บางคนเดิมกินยาทุกวันเป็นเดือนๆ แม้ว่าหมอจะบอกไม่ให้ทานติดต่อเกิน 7 วัน แต่เนื่องจากคนไข้ปวดมากและไม่อยากเสี่ยงเรื่องการผ่าตัด ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงไปซื้อยามาทานต่อเอง หลังจากได้มาฝังเข็มแล้ว พบว่าอาการดีขึ้น ซึ่งช่วงแรกอาจต้องมาบ่อย สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ต่อมาก็ห่างขึ้นเรื่อยๆ จนเหลือเดือนละครั้งหรือ 2 ครั้ง โดยไม่ต้องใช้ยาแก้ปวด ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่เสี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยา

 

ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร?


        ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน บริเวณต่างๆทั่วร่างกาย มีพลังงานไม่เท่ากัน (ภาษาจีนเรียกพลังงานไหลเวียนนี้ว่า "ชี่") การฝังเข็มจะเป็นการใช้เข็มฝังบริเวณที่เป็นเส้นทางเดินของพลังงาน คือบริเวณที่มีพลังงานผ่านมาก เป็นการช่วยกระตุ้นลมปราณ หรือพลังงานที่ไหลเวียนติดขัด ไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยระบายเลือดที่คั่งเนื่องจากการไหลเวียนไม่ดีให้ไหลเวียนดีขึ้น ระบายความร้อน สิ่งสกปรกที่สะสมหรือสารพิษที่มีเกินออก และบำรุงให้ความชุ่มชื้น ซ่อมแซม และฟื้นฟูร่างกายที่เสียสมดุลไปให้กลับเข้าสู่สมดุลนั่นเองค่ะ

 

ต้องมารักษากี่ครั้ง?


        แล้วแต่พื้นฐานร่างกายค่ะ ให้คุณหมอพิจารณาอีกครั้ง บางคน 2 – 3 ครั้งหายแล้ว เนื่องจากพื้นฐานร่างกายดี แต่ถ้าอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ส่วนร่างกายของเราจะมีการพร่องอยู่บ้างแล้ว ก็คือต้องการการบำรุงเพื่อปรับเข้าสู่สมดุล เพราะถึงแม้จะหายจากอาการแล้ว แต่ร่างกายก็ต้องการการบำรุง ปรับสภาพพื้นฐานภายในด้วย การมาฝังเข็มให้ครบตามที่คุณหมอแนะนำจะช่วยให้โอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อยลงค่ะ

 

ฝังเข็มแล้วหายขาดเลยไหม?


        ทางศาสตร์จีนจะแบ่งอาการเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ คือ

1. อาการแกร่ง ซึ่งหมายถึง ภาวะร่างกายที่ปกติแต่มีสิ่งภายนอกมารบกวนทำให้เสียสมดุล เลือดลมติดขัด เกิดอาการต่างๆขึ้น (ลมในที่นี้ คือ ลมปราณ หรือ ที่เรียกว่า ชี่ ในศาสตร์แพทย์แผนจีน ซึ่งหมายถึง พลังงานที่ไหลเวียนในร่างกาย ช่วยให้อวัยวะต่างๆและร่างกายทำงานได้อย่างปกติค่ะ) ส่วนใหญ่เกิดในคนหนุ่มสาว ภาวะนี้ จะใช้เวลาในการรักษาสั้น บางคนรักษาเพียง 1 ครั้งหายขาดเลย ไม่เป็นอีก ถ้าไม่ได้รับสิ่งกระตุ้นรบกวนนั้นๆอีก

2. อาการพร่อง ซึ่งเกิดจากภาวะร่างกายที่มีการทำงานลดลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และมีสิ่งรบกวนมากระตุ้นให้เกิดอาการขึ้น ส่วนใหญ่พบในวัยกลางคนขึ้นไป การรักษานอกจากจะรักษาอาการที่แสดงออกมาให้เห็นแล้ว ยังต้องบำรุงร่างกายภายในด้วย เป็นการปรับสภาพพื้นฐานของร่างกาย ซึ่งต้องใช้เวลา เพื่อให้ร่างกายที่เสียสมดุลเป็นเวลานานได้ฟื้นฟู หากอยู่ในกรณีนี้ บางคนไม่เข้าใจรักษาครั้งเดียวยังไม่ดีขึ้นจึงไม่ได้มารักษาอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถ้ามีวินัยรักษาอย่างสม่ำเสมอก็จะรักษาได้ผลดีค่ะ

 

กินยาแผนปัจจุบันอยู่ ฝังเข็มได้ไหม?

        ส่วนใหญ่ฝังเข็มได้ไม่มีปัญหาค่ะ เพราะฝังเข็มไม่ได้ใช้ยา ทำให้ไม่ต้องกลัวการไปเพิ่มผลข้างเคียงของยาที่รับประทานอยู่ อย่างไรก็ตามแนะนำให้แจ้งยาที่รับประทานอยู่และโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบด้วยค่ะ

        

ด้วยความปรารถนาดี

1 ความคิดเห็น: