วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ความแตกต่างของเส้นเลือดตีบตัน ในชายและหญิง

 พอดีไปอ่านเจอบทความที่น่าสนใจใน European Heart Journal 2018 (วารสารโรคหัวใจของยุโรป) พูดถึงการส่งตรวจเส้นเลือดหัวใจเพื่อดูความเสี่ยงตีบตันและเปรียบเทียบความแม่นยำในผู้ชายและผู้หญิง โดยใช้เครื่องซีทีดูค่าแคลเซียมบนผนังเส้นเลือด (Coronary CT calcium scan)
การตรวจนี้ทำไม่ยากโดยจะให้เรานอนบนเครื่องแล้วเครื่องก็จะเลื่อนตัวเราเข้าไปผ่านเครื่องรูปทรงโดนัท จากนั้นเครื่องนี้ก็จะฉายรังสี X-ray หลายๆภาพเพื่อมาต่อกันเป็นภาพตัวของเราแบบกึ่ง 3 มิติ จากนั้นรูปที่ได้มาก็เอามาดูการเกาะตัวของแคลเซียมในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ตอนนี้หลายท่านคงสงสัยว่ามันมีแคลเซียมในเส้นเลือดด้วยหรือ ไม่ใช่อยู่ในกระดูกหรือ

จริงๆแล้วในเลือดและเซลล์เรามีแคลเซียมอยู่เสมอ และถือเป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต เพราะถ้าไม่มีกล้ามเนื้อจะไม่สามารถบีบตัวได้ ผลก็คือ เราจะขยับไม่ได้ หายใจไม่ได้ และหัวใจเราก็เต้นไม่ได้ แต่โดยปกติแล้วไม่ใช่ปัญหาเพราะกระดูกเราสะสมแคลเซียมไว้เยอะและร่างกายสามารถเอามันออกมาใช้งานได้ ส่วนโรคเส้นเลือดตีบนั้นเกิดจากการอักเสบของเส้นเลือด พอนานเข้าไขมัน ก็แทรกซึมเข้า ไป ผ่านไปอีกพัก ใหญ่ไขมันที่เกาะอยู่ในผนังเส้นเลือดก็เริ่มแข็งตัวเพราะแคลเซียมพวกนี้มันเข้าไปแทรกซึม (Calcified plaque)

ฉะนั้นเครื่องซีทีนี้จึงดีในการดูเส้นเลือดเพราะรังสี X–ray ไม่สามารถผ่านแคลเซียม (radiopaque) ได้ จึงทำให้เห็นรอยโรคเส้นเลือดตีบค่อนข้างชัด พอได้รูปมาเค้าก็มีโปรแกรมที่คำนวณคะแนนของจำนวนแคลเซียมที่เกาะอยู่ตามผนัง จากนั้นเราก็เอาคะแนนนี้รวมกับประวัติคนไข้มาประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในอนาคต เพื่อจะเอามาใช้ช่วยประเมินความเสี่ยง รวมถึงช่วยในการตัดสินใจเรื่องวิธีรักษาและในการลดความเสี่ยง

ข้อดีของการทดสอบนี้คือ ไม่ต้องใช้การฉีดสีเข้าเส้นเลือด ซึ่งจะช่วยลดการสัมผัสกับรังสีได้เยอะพอสมควร แต่ทั้งนี้ การเข้าเครื่องเฉยๆก็มีการสัมผัสรังสีเยอะมากเท่ากับ X-ray ปอด 20-30 ครั้งอยู่แล้ว ฉะนั้นควรจะใช้การตรวจนี้ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ที่นำมาใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจแบบก้ำกึ่ง และผลนี้จะช่วยในการตัดสินใจว่าจะให้ยาป้องกันหรือไม่

กลับมาที่ความแตกต่างของโรคหัวใจระหว่างเพศ อย่างแรกคืออัตราการเกิดโรคซึ่งผู้ชายจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิง ส่วนหนึ่งก็คือการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น แต่ขณะนี้ความแตกต่างเริ่มน้อยลงเพราะการใช้ชีวิตของทั้งสองเพศเหมือนกันมากขึ้นเรื่อยๆ และฮอร์โมนเพศหญิง (Oestrogen) อาจจะช่วยป้องกัน เพราะเราเห็นว่าพอวัยทองแล้วฮอร์โมนนี้ลดน้อยลง โอกาสเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันดูจะสูงขึ้นกว่าที่เดิม เผลอๆจะสูงกว่าเพศชายด้วยซ้ำ ส่วนฮอร์โมนนี้ช่วยป้องกันยังไงไม่มีใครรู้ มันอาจจะไปช่วยลดการอักเสบของร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผนังเส้นเลือดเสียหาย หรือไปเพิ่มการผลิตสารขยายหลอดเลือดไนตริกออกไซด์ก็เป็นได้

ความแตกต่างอย่างที่สองคือ อาการที่ทำให้มาหาหมอครั้งแรก โดยผู้หญิงมักจะมาด้วยเส้นเลือดสมองตันเป็นอัมพาต (Stroke) หรือไม่ก็มาด้วยหัวใจล้มเหลว (Heart failure) ส่วนในชายก็จะมาด้วยเส้นเลือดหัวใจตันเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction) นอกจากนี้ผู้หญิงที่โรคหัวใจไม่ว่าจะเต้นผิดปกติ ขาดเลือดเฉียบพลัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจโตผิดปกติ จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าชายที่เป็นโรคเดียวกัน

ในผู้หญิงพอเป็นเส้นเลือดหัวใจตันเฉียบพลันก็มักมีอาการที่ไม่เหมือนกับที่หมอเรียนมา (atypical symptoms) ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่มาโรงพยาบาลช้า และหมอไม่สามารถวินิจฉัยได้โดยเร็วเพราะอาการไม่ได้บ่งบอกถึงหัวใจ หลายๆท่านก็เลยคิดขึ้นมาว่าเส้นเลือดตันในผู้หญิงอาจจะมีกลไกไม่เหมือนกันและตัวตะกอนในเส้นเลือดของผู้หญิงมีโอกาสแตกและทำให้เส้นเลือดตันมากกว่าผู้ชาย แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัด

เมื่ออาจจะมีความแตกต่างแต่ไม่รู้ว่าแตกต่างยังไง จึงเป็นที่มาของการศึกษารายงานใน European Heart Journal นี้ โดย 4 ศูนย์การแพทย์ในสหรัฐฯ ได้เอาข้อมูลของคนไข้ 63,215 คน ที่ได้รับการตรวจโดยใช้เครื่องซีทีดูค่าแคลเซียม และการศึกษาทำตั้งแต่ปี 1991 ถึง 2010 ในอเมริกา จากทั้งหมด 20,508 คนเป็นผู้หญิง

เมื่อนำข้อมูลมาดูแล้วพบว่าผู้หญิงสูบบุหรี่น้อยกว่า อายุที่ได้รับการส่งตรวจนั้นแก่กว่าผู้ชาย และมีประวัติครอบครัวโรคหัวใจมากกว่า ทั้งนี้ มีค่าไขมันในเลือดเท่าๆกัน แต่ว่ากลับมีการใช้ยาลดไขมันสแตตินหรือยาต้านเกล็ดเลือดแอสไพรินน้อยกว่าผู้ชายเยอะ

จากนั้นก็ตามดูคนไข้เฉลี่ยถึง 13 ปีว่าเสียชีวิตกี่ราย และในที่เสียชีวิต มีกี่รายที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ โดยพบว่ามี 919 คน ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ (หรือประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่เสียชีวิต)

ส่วนเครื่องซีทีดูค่าแคลเซียมก็ค่อนข้างตรงในการทำนายการเสียชีวิต โดยถ้าค่าแคลเซียมในเส้นเลือดสูงเกินเกณฑ์ (Agatston Score มากกว่า 400) จะมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากกว่า คนที่ค่าต่ำถึง 9.1 เท่า และในผู้หญิงถ้ามีค่าแคลเซียมขึ้นโอกาสตายด้วยโรคหัวใจจะสูงกว่าชายเกือบสองเท่า ส่วนในทั้งชายและหญิงที่ค่าแคลเซียมเป็นศูนย์ โอกาสเป็นหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้นต่ำมาก (0.4%)

สรุปก็คือเครื่องซีทีดูค่าแคลเซียมมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยการตัดสินใจรักษาในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงก้ำกึ่ง และช่วยลดการใช้ยาที่อาจมีผลข้างเคียงในกลุ่มที่ค่าเป็นศูนย์ ส่วนการรักษาในผู้หญิงที่มีค่าแคลเซียมในเส้นเลือดสูงอาจจะต้องหนักแน่นและรัดกุมกว่าในผู้ชายเพราะเสี่ยงกว่า และก็ให้พวกเราอย่าลืมว่าโรคหัวใจไม่อาจละเลยไม่สนใจ ผู้ชายและผู้หญิงก็เป็นได้เหมือนกัน แล้วพอเป็น ผู้หญิงโอกาสเสียชีวิตจะยิ่งสูงกว่าอีกด้วย หมั่นออกกำลังกายควบคุมน้ำหนักสม่ำเสมอ

CR:หมอดื้อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น