อัมพาตครึ่งซีก ถือเป็นอีกหนึ่งโรคร้าย เพราะทำให้คนไข้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่บางกรณีก็สามารถบำบัดรักษาโรคได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการบำบัดอาการให้ดีขึ้นกว่าที่ผู้ป่วยประสบอยู่
การบำบัดอาการเพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกมีอาการดีขึ้นด้วยตนเอง สามารถทำได้โดยการกายภาพบำบัด วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เกี่ยวกับการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการใส่เสื้อผ้า แปรงฟัน อาบน้ำ กินข้าว เป็นต้น รวมถึงการลุกเดินและไปในที่ต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย
สำหรับการใส่เสื้อผ้าด้วยตนเองของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ในกรณีที่ผู้ป่วยยังพอมีกำลังหรือมีแรงอยู่บ้าง ทำได้โดยการใช้เสื้อที่มีลักษณะผ่าหน้า กระดุมเม็ดใหญ่กว่าปกติ และมีแขนเสื้อที่ใหญ่สวมใส่ได้ง่าย รวมถึงมีขนาดที่ใหญ่ไม่รัดรูปเกินไป
สาธิตการใส่เสื้อด้วยตนเองของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก สมมติว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงที่ซีกซ้าย ให้ทำการวางเสื้อคว่ำหน้าลง แล้วพับแขนเสื้อขึ้นประมาณ 4-5 ทบ (ญาติพับให้) จากนั้นผู้ป่วยใช้มือขวาจับแขนเสื้อย่นขึ้นไปจนถึงบริเวณที่พับไว้แล้วดันแขนเสื้อสวมเข้าไปที่แขนซ้ายจนมือโผล่ขึ้นมา แล้วใช้มือค่อย ๆ ไล่ไปจนกระทั่งเสื้อปกคลุมไปถึงหัวไหล่ แล้วใช้มือขวาตวัดเสื้ออ้อมลำตัวไปอีกฝั่งหนึ่ง จากนั้นพยายามใช้แขนข้างขวาสวมเข้าไปในแขนเสื้อตามลำดับ แล้วค่อย ๆ ติดกระดุมด้วยมือขวาข้างเดียว
การสอนให้ผู้ป่วยใส่เสื้อด้วยตนเอง เป็นการกายภาพที่ช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงการกินข้าว แปรงฟัน อาบน้ำ และมีการฝึกยืนฝึกเดินไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัยตามลำดับ
ในกรณีที่คนไข้ยังไม่พร้อมที่จะเดินหรือยืน สามารถออกกำลังกายขณะนั่งได้ อันดับแรกเลยคือการป้องกันไม่ให้ข้อติด โดยการยืดกล้ามเนื้อต่าง ๆ และขยับข้อต่าง ๆ เพื่อรองรับกับอนาคตของคนไข้ที่จะมีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้บ้าง เพราะถ้าหากข้อติดจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมา
การบริหารข้อต่าง ๆ เพื่อป้องกันข้อติด ได้แก่
ข้อบริเวณหัวไหล่ – ใช้มือข้างที่ปกติจับมือข้างที่อ่อนแรงไว้ แล้วค่อย ๆ ยกแขนขึ้นยืดจนสุด (เท่าที่คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บ) จากนั้นค้างไว้แล้วนับ 1-10 แล้วค่อย ๆ เอาลงช้า ๆ
ข้อศอก – ใช้มือข้างที่ปกติจับมือข้างที่อ่อนแรงไว้และงอขึ้นค้างไว้แล้วนับ 1-10 จากนั้นเหยียดตรงไปข้างหน้าค้างไว้แล้วนับ 1-10 ทำสลับไปเรื่อย ๆ จนครบ 10 ครั้ง
ข้อมือ – เอามือประกบกันแล้วดันข้างที่อ่อนแรงออกไปให้ข้อมือหัก เหยียดข้อมือให้รู้สึกตึง แล้วจับให้นิ้วมากำไว้ให้แน่น จากนั้นตามด้วยการดัดนิ้วต่อ
หลักการสำคัญในการบริหารคือให้ยืดเท่าที่คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บแล้วค้างไว้นับ 1-10 จากนั้นค่อย ๆ เหยียดกล้ามเนื้อให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ การขยับขาก็เช่นกัน ให้เอาข้างที่ดีมาซ้อนข้างที่อ่อนแรงไว้แล้วเตะออกจากนั้นค้างไว้นับ 1-10
ผู้ป่วยที่ผลการฟื้นฟูได้ผลดี ต้องมีลักษณะ ดังนี้
ต้องได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและสังคมที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย
มีการฟื้นตัวของความสามารถในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้เร็ว ภายใน 1-2 สัปดาห์
มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อลำตัว สะโพก หัวไหล่ โดยเร็ว โดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนต้นได้ภายใน 2-4 สัปดาห์
มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อแต่ละมัดโดยเร็ว สามารถควบคุมกล้ามเนื้อแต่ละมัดได้ภายใน 4-6 สัปดาห์
อารมณ์ดีไม่มีอาการซึมเศร้า
มีการรับรู้ที่ดี
อัมพาตครึ่งซีก
ข้อมูลจากรายการพบหมอรามา ช่วง Big Story กายภาพบำบัด สำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก วันที่ 6 มกราคม 2560
อ. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
======================================================================
การออกกำลังกายในผู้ป่วยอ่อนแรงกล้ามเนื้อ
ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยอ่อนแรง
ป้องกันภาวะข้อติดจากการนอนเป็นเวลานาน
ป้องกันกล้ามเนื้อฝ่อลีบจากการไม่ได้ใช้งานในข้างที่มีแรง
กระตุ้นการทำงานและเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อข้างที่อ่อนแรง
หลักการออกกำลังกายในผู้ป่วยที่อ่อนแรงครึ่งซีก
ควรทำเป็นประจำทุกวัน สม่ำเสมอ
ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนการออกกำลังกาย
ไม่กลั้นลมหายใจขณะออกกำลังกายในทุกๆท่า
ไม่ควรทำในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น หอบเหนื่อย หายใจเร็ว หน้าซีด มือเย็น
** หากระหว่างการออกกำลังกาย ผู้ป่วยมีอาการหน้าซีด เหงื่อออกมาก มือเท้าเย็น พูดคุยไม่รู้เรื่อง ควรหยุดออกกำลังกายและพาไปพบแพทย์ทันที **
ท่าที่ 1 ท่ายกแขนขึ้นตรง
► นอนหงายแขนชิดลำตัว จากนั้นยกแขนขึ้นข้างหน้าช้าๆ จนถึงจุดที่ตึงหรือจนแขนชิดหู จากนั้นหุบกลับสู่ตำแหน่งเดิมช้าๆ
ท่าที่ 2 ท่ายกแขนทางด้านข้าง
► นอนหงายแขนชิดลำตัว จากนั้นกางแขนออกทางด้านข้างจนถึงชุดที่ตึง ช่วงที่แขนเลยหัวไหล่ให้หมุนปลายแขนให้นิ้วโป้งชี้ขึ้นแล้วยกแขนจนถึงจุดที่ตึงหรือจนแนบชิดหู จากนั้นหุบเข้าตำแหน่งเดิม
ท่าที่ 3 ท่าชูแขนขึ้นเพดาน
► งอศอกขึ้น แขนชิดลำตัว จากนั้นชูแขนขึ้นพยายามแตะเพดาน แล้วหุบเข้าตำแหน่งเดิม
ท่าที่ 4 ท่างอ-เหยียดศอก
► แขนเหยียดสุดแล้วจึงงอศอกขึ้นมา พยายามให้ถึงหัวไหล่ตนเอง ทำข้างละ 10 ครั้ง วันละ 1-2 รอบ ข้างที่อ่อนแรงควรมีคนประคองบริเวณข้อศอกและข้อมือดังรูป
ท่าที่ 5 ท่าหมุนแขนคว่ำหงายมือ
► นอนหงายแขนชิดลำตัว งอข้อศอกขึ้น จากนั้นหมุนปลายแขนให้มือหงาย
ท่าที่ 6 ท่ากระดกข้อมือขึ้นตรง
► นอนหงายแขนชิดลำตัว งอข้อศอกขึ้น จากนั้นกระดกข้อมือขึ้นลง
ท่าที่ 7 ท่างอสะโพกยกขาขึ้น
► นอนหงาย จากนั้นงอสะโพกขึ้นพร้อมเหยียดขาไว้ จากนั้นวางลงช้าๆ
ท่าที่ 8 ท่ายกขางอเข่างอสะโพก
► นอนหงาย จากนั้นงอเข่าและสะโพกขึ้น แล้วเหยียดขาไปข้างหน้าตรงๆ
ท่าที่ 9 ท่ากางขาหุบขานอนหงาย
► จากนั้นกางขาออกด้านข้างตรงๆ ไม่งอสะโพก จากนั้นหุบขาเข้าตำแหน่งเดิม อาจะมีคนช่วยประคองใต้เข่าและข้อเท้าได้
ท่าที่ 10 ท่าหมุนสะโพก กางสะโพก
► นอนหงาย ชันเข่าข้างที่จะออกกำลังกายขึ้น จากนั้นหมุนสะโพกเข้าออก ทำข้างละ 10 ครั้ง 1-2 รอบ ข้างที่อ่อนแรงควรมีคนประคองบริเวณที่ปลายเท้าหรือ ใต้ข้อพับเข่า
ท่าที่ 11 ท่ากระดกข้อเท้าขึ้นลง
► นอนหงาย จากนั้นกระดกข้อเท้าขึ้นลงเอง หากผู้ป่วยไม่สามารถกระดกข้อเท้าขึ้นเองได้ ให้ผู้ช่วยวางมือ แล้วใช้ท้องแขนยันปลายเท้าขึ้น
ท่าที่ 12 ท่ายกก้น
► ท่าเริ่มต้น นอนหงาย ชันขาขึ้นสองข้าง จากนั้นยกก้นลอยขึ้น เกร็งค้างไว้ หายใจเข้าตามปกติ นับหนึ่งถึงสิบในใจแล้วจึงผ่อนตัวลง ทำ 10 ครั้ง
คลิปน่ารัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น