วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สะเก็ดเงิน' แค่คันไม่ติดต่อ

เกายุกยิกตลอดเวลาจนเสียบุคลิก คันหาสาเหตุไม่ได้แถมผิวหนังลอกเป็นขุย อาจเป็นมากกว่า...รังแครังควาน
อาการคันที่ไม่ต่างจากลมพิษบนผิวหนัง หรือบางคนก็คันบนหนังศีรษะแถมยังลอกเป็นขุย เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะชี้เป้าไปยัง รังแค เชื้อราบนหนังศีรษะและผดผื่นลมพิษ แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึงโรคผิวหนังที่เรียกว่า "สะเก็ดเงิน" หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ เรื้อนกวาง
พล.ต.นพ.กฤษฎา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ข้อสังเกตถึงความแตกต่างระหว่างสะเก็ดเงินกับรังแคว่า ต้องพิจารณารอยของผื่นคัน เพราะปกติรังแคจะเป็นบริเวณที่มีผม แต่สะเก็ดเงินจะมีรอยผื่นเลยออกมานอกแนวไรผม และมีสะเก็ดทั้งแบบขุยและแผ่นสีขาวซึ่งเกิดขึ้นทุกวันจากการเกา
ในส่วนของอาการคันตามผิวหนังระหว่างลมพิษกับสะเก็ดเงินนั้น ยิ่งสังเกตได้ง่าย เพราะลมพิษมักจะเกิดกับผิวที่อ่อนอย่าง ท้องแขน หน้าท้อง ข้อพับ คอ ขณะที่สะเก็ดเงินพบมากบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น ศอก เข่า หลัง มือ บนหนังศีรษะ หรือตามแนวไรผม



หลังจากพิจารณาทำเลที่คันแล้ว ก็เหลียวมองสมาชิกในบ้าน ไล่เรียงกันมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงพ่อแม่และน้า อา ว่ามีใครเคยเป็นไม่ เพราะสะเก็ดเงินจัดอยู่ในกลุ่มโรคทางพันธุกรรม ยิ่งคนไหนมีพ่อและแม่เป็นทั้งคู่ ลูกยิ่งมีโอกาสที่จะใช่เลยมากกว่าใครเพื่อน อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อจากการสัมผัส ไอจามหรือหายใจร่วมกัน ไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เพียงแต่คนที่เป็นต้องทนรำคาญกับอาการคันไปตลอดชีวิต คนที่ไม่เข้าใจอาจตั้งแง่รังเกียจได้ ทำให้เสียความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคม และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รับการรักษา ก็อาจลุกลามไปยังจุดอื่นของร่างกายได้เช่นกัน
การรักษาสะเก็ดเงินมีหลายรูปแบบ ทั้งยากิน ยาทา ยาฉีดและฉายแสงแดดเทียม ส่วนการใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดินก็ใช้ได้แต่ไม่ได้รับความนิยมเพราะมีกลิ่นเหม็น ส่วนใครจะรักษาด้วยวิธีไหนนั้นขึ้นอยู่กับการตรวจวินิจฉัยของแพทย์
"ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนในการรักษาโรคนี้ ก็เป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุทั้งนั้น โดยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอาการคัน ไม่ให้แสดงออกมาหรือรักษารอยแผลไม่ให้กำเริบมาก แต่เมื่อหยุดยาอาการคันก็จะกลับมาเป็นได้อีก เพราะคนที่เป็นโรคนี้เรียกว่าเป็นกันจนวันตายกันไปข้างหนึ่ง" คุณหมอกล่าว
แม้ว่าโรคนี้อาจไม่ทำให้ถึงกับเสียชีวิต แต่ถ้าปล่อยไว้โดยไม่รักษาเลย ระยะยาวอาจแทรกซ้อนไปถึงข้อ เช่น เจ็บที่ฝ่าเท้าหรือที่นิ้วเท้าเวลาเดิน เหมือนกระดูกแทงเนื้อ รวมถึงการรักษาที่ได้รับตัวยาไม่ถูกกับโรค ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ยา และกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินแสดงอาการรุนแรงยิ่งขึ้น หรือลองรักษาหลายขนานจนตัวยาสะสมในร่างกาย เมื่อเปลี่ยนวิธีก็อาจไม่ได้ผลเพราะฤทธิ์ยาต้านกัน
ฉะนั้น การดูแลตัวเองไม่ให้อาการกำเริบน่าจะดีที่สุด ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหารทอด และรักษาสุขภาพกายใจให้สมดุล นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ก็น่าจะทำให้อาการของโรคทุเลาจากความเป็นจริงได้
รศ.พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน กรรมการสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เสริมว่า การรักษาแต่ละวิธีล้วนมีผลข้างเคียง เช่น การกินยาอาจส่งผลถึงตับและไต แพทย์จะให้ยาระยะหนึ่งและทำการหยุด เพื่อลดภาระการทำงานของตับและไต แล้วเริ่มการรักษาใหม่หากเกิดอาการกำเริบอีก หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนยาทาก็จะใช้ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง
ส่วนการฉายแสงแดดเทียมจะใช้หลอดไฟชนิดพิเศษที่มีรังสียูวีเอ-ยูวีบี ไประงับอาการคันเฉพาะจุด แต่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง 16-20 ครั้งจนกว่าจะระงับอาการที่เกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับคนไหนเป็นมากหรือน้อย และมีให้บริการในโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น อีกวิธีที่เป็นทางเลือกในการรักษาคือยาฉีด ซึ่งไม่ค่อยนิยมเพราะว่าต้องสั่งนำเข้าและยามีราคาแพงถึงหลักแสน ทั้งยังต้องรับยาต่อเนื่องเช่นเดียวกับการรักษาด้วยวิธีอื่น
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีไหนก็ล้วนแต่ควบคุมอาการคันเท่านั้น ไม่ใช่วิธีที่ทำให้หายขาดจากโรค
อาหารต้องห้าม- อาหารทะเล ปลาไม่มีเกล็ด- ถั่วต่างๆ ยกเว้นถั่วเหลือง- ของหมักดอง ปลาร้า - อาหารรสจัด- สัตว์ปีก หน่อไม้ เนื้อวัว ขนุนสุก- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น