วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โรคผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (1)

โรคผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็นๆ หายๆ โรคนี้พบบ่อยประมาณร้อยละ 10 ในประชากรเด็ก ผู้ป่วยโรคนี้มักมีประวัติแพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หรือหอบหืดร่วมด้วย และมีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน คืออาจมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ นอกจากสาเหตุทางพันธุกรรมแล้ว ปัจจัยภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ คือ สิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร ไรฝุ่น สารระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ โดยผิวหนังผู้ป่วยจะไว (Sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น อากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป แห้ง ชื้น สารเคมีที่ระคายผิวหนังและสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น แมลง เชื้อโรค
            โรคผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้มีอาการอย่างไร            
 ผู้ป่วยจะมีผื่นคันอักเสบเป็นตุ่มหรือปื้นแดงๆ เป็นๆ หายๆ อย่างเรื้อรัง นอกจากนี้ผิวหนังบริเวณที่ไม่มีรอยโรคโดยทั่วไปจะค่อนข้างแห้ง เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอาการของโรคแตกต่างกันตามวัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้    
            1. วัยทารกพบระหว่างอายุ 2 เดือน – 2 ปี ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป บริเวณที่พบผื่นแดงคันหรือมีตุ่มแดงและตุ่มน้ำเล็กๆ ผสมอยู่ในผื่นแดงด้วย พบมากที่สุดบริเวณแก้ม ถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองเยิ้มหรือตกสะเก็ด อาจพบร่องรอยจากการเกาหรือถู เพราะเด็กเล็กๆ จะชอบเอาหน้าถูกับที่นอน เนื่องจากอาการคัน โดยผื่นอาจลุกลามไปผิวหนังบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า สำหรับในรายที่เป็นมากๆ อาจเกิดผื่นทั่วร่างกายได้             
             2. วัยเด็ก อายุระหว่าง 2 – 12 ปี ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขน ขา เมื่อโรครุนแรงอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นได้ โดยผื่นมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดง แห้งๆ มีขุยเล็กน้อย แต่มักไม่พบตุ่มน้ำแตกหรือแฉะ ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

          
             3. วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้....ทำไมเห่อง่าย เกิดจากปัจจัยอะไร เนื่องจากผู้ป่วยจะมีผิวแห้ง ผิวหนังมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม หรือต่อการกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง จึงมีหลายปัจจัยทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบง่าย ดังต่อไปนี้
 1. สภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารก่อภูมิแพ้ เช่น มีไรฝุ่น แมลงสาบ สัตว์เลี้ยง แมลงอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น 

2. เชื้อโรคชนิดต่างๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา อาจแทรกซ้อน ทำให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนังของผู้ป่วย อาการจะกำเริบมากขึ้น ในกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์    
              3. ภูมิอากาศ มีผลต่ออาการแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย กล่าวคือ ผิวหนังผู้ป่วยจะไวต่อเกือบทุกสภาวะ เช่น ในช่วงฤดูหนาว มีความชื้นในอากาศต่ำ อากาศแห้งและเย็นจะทำให้ผิวหนังผู้ป่วยคันและอักเสบมากขึ้น ส่วนในบางรายจะมีอาการมากขึ้นในฤดูร้อน เหงื่อออกมากทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันและเกิดผื่นผิวหนังอักเสบมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน 
              4. เสื้อผ้า ไม่ควรใช้เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับที่มีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์เพราะระคายผิวหนัง ทำให้คันมากขึ้น ควรสวมผ้าฝ้ายที่ไม่หนามากจะเหมาะสมที่สุด    
              5. สบู่ ผงซักฟอก ที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะละลายไขมันธรรมชาติบนผิวหนัง ทำให้ผิวแห้ง ผื่นผิวหนังอักเสบเป็นมากขึ้นได้    
              6. อาหาร ผู้ป่วยโรคนี้ประมาณร้อยละ 30 เกิดจากการแพ้อาหาร กระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยเด็ก โดยอาหารที่แพ้บ่อยๆ ได้แก่ นม ไข่ ถั่วเหลือง อาหารทะเล เป็นต้น  
              7. จิตใจที่วิตกกังวล ความเครียด พบว่าสามารถทำให้โรคกำเริบได้ 
            ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ ศุกร์สุขภาพครั้งต่อไป แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลรักษา ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยไม่ยุ่งยากมากนัก แล้วพบกันสัปดาห์หน้า.


          ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ โดย รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพล คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น