วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ

     การอักเสบของพังผืดฝ่าเท้ามักเกิดจากการบาดเจ็บ เนื่องจากการรองรับแรงกระแทกมากๆ เช่น จากการวิ่ง ทำให้เกิดการฉีกขาดเล็กๆ ของพังผืด โดยเฉพาะในบริเวณที่พังผืดฝ่าเท้ายึดติดกับกระดูกส้นเท้า โดยอาการปวดมักจะค่อยๆ เกิดขึ้น และเกิดกับเท้าข้างเดียว แต่อาจจะเป็นพร้อมกันสองข้างก็ได้ มักจะเป็นมากในตอนเช้า เนื่องจากพบว่าพังผืดฝ่าเท้าอาจจะเกร็งในตอนกลางคืนขณะที่เรากำลังพักผ่อน ยังโชคดีที่คนส่วนใหญ่ที่เป็นพังผืดฝ่าเท้าอักเสบมักจะดีขึ้นจากการดูแลตามหลักการพื้นฐาน หรือมาตรการเข้มข้น ที่จะแนะนำให้ทราบต่อไปนี้ เพียงแต่ว่าบางรายอาจจะใช้เวลานานหน่อย

รู้จักพังผืดฝ่าเท้า
     พังผืดฝ่าเท้า (plantar fascia) เป็นแผ่นเนื้อเยื่อเหนียว (fascia) ที่ยึดระหว่างกระดูกส้นเท้ากับกระดูกนิ้วเท้า เพื่อให้กระดูกฝ่าเท้ามีโครงสร้างเป็นหลังคาโค้ง (plantar arch) คล้ายสายธนูยึดคันธนูให้โค้งฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อโครงสร้างของเท้าโค้ง มันจึงสามารถทำหน้าที่เป็นตัวยืดหยุ่นรองรับแรงกระแทกเวลาลงน้ำหนักได้ดี (คล้ายโช๊คอัพของรถยนต์) ท่านสามารถคลำพังผืดนี้ได้โดยการเกร็งกระดกนิ้วเท้าขึ้นด้านบน ก็จะคลำพบพังผืดฝ่าเท้าที่กำลังตึงอยู่
ปัจจัยเสี่ยง
     * คนสูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้มาก เนื่องจากพังผืดฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นลดลงเป็นสัดส่วนผกผันกับอายุ นอกจากนี้แผ่นไขมันรองใต้ผิวหนังฝ่าเท้ายังแบนลง ทำให้ความสามารถในการซึมซับแรงกระแทกน้อยลง 

     * คนที่มีน้ำหนักเกิน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้มากกว่าปกติจากแรงกระแทกที่มากขึ้นตามน้ำหนัก


     * การเดินเท้าเปล่า หรือสวมรองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าแตะโดยไม่มีอะไรค้ำจุนอุ้งเท้า (arch support) ทำให้พังผืดฝ่าเท้าต้องรับน้ำหนักมาก


     * การสวมรองเท้าส้นสูง ตั้งแต่ 2 นิ้วหรือสูงกว่านั้นก็เพิ่มความเสี่ยง


     * การทำกิจกรรมด้วยเท้ามากแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การเดินระยะทางไกล หรือยืนนานๆ หรือยกของหนัก ล้วนทำให้พังผืดฝ่าเท้ามีความตึงเครียดมากขึ้นทั้งนั้น


     * การมีกายภาพของเท้าที่เอื้อต่อการบาดเจ็บ เช่น อุ้งเท้าโค้งมากเกินหรือแบนมากเกิน หรือท่าเดินที่ผิดๆ ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บของพังผืดฝ่าเท้าได้ง่าย
การดูแลพื้นฐาน
     สิ่งแรกๆ ที่ควรทำเมื่อพังผืดฝ่าเท้าอักเสบคือลดความเจ็บปวดและลดความตึงของพังผืดฝ่าเท้า ดังนี้

      * สวมรองเท้าที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะอยู่ในร่มหรือกลางแจ้งควรสวมใส่รองเท้าที่มีส่วนโค้งค้ำจุนฝ่าเท้าเสมอ ถ้าต้องใส่รองเท้าที่มีส้นก็ควรเลือกส้นเตี้ยมากๆ หรือกลางๆ ส่วนรองเท้าที่สึกจนไม่ช่วยค้ำจุนฝ่าเท้าแล้วก็ควรโละทิ้ง แต่ควรวางรองเท้าดีๆ ไว้ใกล้ตัว เพื่อจะได้หยิบฉวยมาใช้ได้ตลอดเวลา


     * เสริม hell cap หรือพื้นรองเท้าโดยใช้วัสดุที่เขามีขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะทำจากซิลิโคนนุ่ม หรือใช้ชิ้นสอดค้ำฝ่าเท้าที่แน่นๆ เสริมพื้นรองเท้า (insert) สำเร็จรูป (ที่เขาทำขายหรือให้ช่างรองเท้าทำขึ้น) เพื่อใช้สอดเข้าไปในรองเท้าตรงบริเวณอุ้งฝ่าเท้า เพื่อช่วยค้ำจุนโค้งฝ่าเท้า


     * ลดละกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดพังผืดฝ่าเท้า โดยลดการออกกำลังกายที่ใช้เท้าลงน้ำหนัก อันเป็นสาเหตุให้พังผืดฝ่าเท้าตึง เช่น การวิ่ง หรือการเดินขึ้นบันได หรือใช้เครื่องปีนขึ้นบันได แต่พยายามหากิจกรรมออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้เท้าลงน้ำหนัก เช่น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ โดยใช้เครื่องนั่ง เช่น ใช้เก้าอี้พับเวลาไปชุมนุมเสื้อเหลืองเสื้อแดงหรือเสื้อหลากสี เป็นต้น


     * ทำกายภาพบำบัด เพื่อยืดพังผืดและรักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวพังผืดฝ่าเท้า เช่น ใช้มือจับเหยียดฝ่าเท้าในการบริหารกล้ามเนื้อน่อง (ที่ปกติทำการบังคับพังผืดฝ่าเท้าผ่านกระดูกส้นเท้า) โดยให้ยืนหันหน้า เอามือค้ำฝาผนัง แล้วยื่นเท้าไปข้างหลัง ในขณะที่วางฝ่าเท้าราบกับพื้นให้ย่อเข่า เพื่อให้น้ำหนักตัวกดลงไปที่เท้า ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อน่องเกร็งตึง โดยไม่เคลื่อนข้อเท้า (isometric exercise) วิธีนี้จะทำให้กล้ามเนื้อน่องไม่อ่อนแอในขณะที่รอการหายของพังผืดฝ่าเท้า แต่ถ้าทำไม่เป็นควรใช้บริการของแผนกกายภาพบำบัด


     * ใช้ความเย็นประคบฝ่าเท้า ในกรณีที่เจ็บฝ่าเท้ามาก เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด แต่บางกรณีการใช้ความเย็นประคบอาจจะเกิดโทษได้ เช่น ในรายที่มีโรคหลอดเลือดตีบตัน โรคเบาหวานที่เท้าชาซึ่งมีเลือดไปเลี้ยงน้อยอยู่แล้ว เพราะการประคบความเย็นจะทำให้หลอดเลือดตีบลง ลดจำนวนเลือดที่ไปเลี้ยงเท้าลงอีก จนอาจจะทำให้เป็นอันตรายจากเท้าขาดเลือดได้ ในกรณีนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน


     * ใช้ยาลดการอักเสบลดความเจ็บปวด ในกรณีที่ทำอย่างอื่นข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยยาที่อาจจะใช้ได้คือ ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน แต่ยา 2 ตัวนี้อาจจะทำให้ระคายกระเพาะอาหารได้ จึงต้องหมั่นเช็คอาการทางกระเพาะ และไม่ควรใช้ยานานเกินความจำเป็น โดยหากซื้อยามาใช้เองควรปรึกษาเภสัชกร


     * ลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักเกิน เพื่อลดความตึงเครียดที่น้ำหนักตัวกระทำต่อพังผืดฝ่าเท้า ซึ่งการลดอาหารและออกกำลังกายดีเป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ดีที่สุด
มาตรการเข้มหากจำเป็น
     ถ้าทำการดูแลรักษาแบบพื้นฐานข้างต้นแล้วไม่สามารถช่วยได้ก็ต้องใช้มาตรการที่เข้มกว่านั้นคือ

      * สั่งตัดชิ้นสอดค้ำฝ่าเท้าโดยวิธีหลอมวัสดุที่แน่นๆ (custom-mold shoe inserts) ซึ่งในการหลอม ช่างจะเอาเท้าของท่านเป็นแบบทำเบ้าหลอม แล้วเอาวัสดุที่แน่นๆ เช่น ยาง หรือวัสดุอื่น มาเทในเบ้าหลอม เพื่อให้ได้รูปลักษณ์ที่เข้ากับฝ่าเท้าของท่าน และชิ้นงานที่ใส่เข้าไปในรองเท้าจะช่วยค้ำจุนฝ่าเท้าของท่านได้ดีกว่าชิ้นสอดที่ทำสำเร็จรูปมาจากโรงงาน แต่ราคาก็จะแพงกว่า


      * การดามเท้า การดามเท้าโดยใช้เฝือกอ่อน (brace) ในเวลานอนตอนกลางคืน ดามในท่าที่ข้อเท้าตั้งอยู่ที่ 90 องศา ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้พังผืดฝ่าเท้าเกร็งตัวในเวลากลางคืน ตื่นเช้าขึ้นมาจะได้ไม่เจ็บ


      * การใส่เฝือกเดิน (walking cast) ถ้าหากทำอย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้วไม่หาย นี่คือสิ่งสุดท้ายที่ทำได้ เฝือกเดินนี้มีหลักการคือทำให้พังผืดฝ่าเท้าได้พัก และในขณะที่ท่านเดิน น้ำหนักจะลงไปที่ส้นเท้า ไม่ทำให้พังผืดฝ่าเท้าตึงเครียด การใส่เฝือกเดินเป็นเวลาหลายสัปดาห์จึงช่วยให้การบาดเจ็บของพังผืดฝ่าเท้ามีโอกาสหายได้ โดยที่เท้าและขาท่านไม่ลีบจากการหยุดใช้งาน


      * การฉีดสเตียรอยด์ จะใช้เมื่อวิธีการอื่นไม่ได้ผล โดยเมื่อฉีดสเตียรอยด์เข้าไปตรงที่เจ็บจะทำให้การอักเสบลดลง ความเจ็บจึงน้อยลง และกระบวนการหายของการบาดเจ็บก็จะง่ายขึ้น (ตัวยาเองไม่ได้ทำให้การบาดเจ็บหาย) แต่ผลของมันจะอยู่ไม่นาน และไม่แนะนำให้ฉีดบ่อยๆ เนื่องจากตัวยานี้มีผลข้างเคียงคือ ทำให้พังผืดที่ถูกฉีดอ่อนแอลง มีผลให้พังผืดอาจฉีกขาดมากขึ้นได้
     ส่วนท่านที่มีปัญหาพังผืดฝ่าเท้าอักเสบและรักษาเองด้วยวิธีข้างต้นแล้วก็ยังไม่ยอมหาย ควรจะปรึกษาศัลยแพทย์กระดูกและข้อ (หมอออร์โธพิดิกส์) นะครับ...
Article : นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น