โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection หรือ UTI) เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งส่วนใหญ่ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะเกิดขึ้นที่บริเวณทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ซึ่งได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ (bladder) เรียกว่า “Cystitis” และ ท่อปัสสาวะ (urethra –ท่อที่ลำเลียงน้ำปัสสาวะออกไปจากร่างกาย) เรียกว่า “Urethritis”
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน ได้แก่ บริเวณ ไต (kidney) เรียกว่า “Pyelonephritis”และ ท่อไต (ureter – ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างไต และ กระเพาะปัสสาวะ) ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะพบได้น้อยกว่า แต่หากมีการติดเชื้อจะรุนแรงกว่าการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
อุบัติการณ์การเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ พบได้ค่อนข้างบ่อยมาก จากสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่ามีผู้ไปพบแพทย์ด้วยโรคนี้ถึง 10 ล้านครั้งต่อปี ในผู้หญิงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถเกิดภาวะติดเชื้อนี้ได้บ่อยกว่าในผู้ชาย เนื่องจากการมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน โดยในผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
มีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่า
ความชื้นรอบบริเวณรูเปิดของท่อปัสสาวะมากกว่า
รูเปิดของท่อปัสสาวะใกล้กับทวารมากกว่า
โดยจะมีการพบภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะถึง 1 ใน 5 ของประชากรเพศหญิง ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ และผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ จะมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ได้มากกว่าหญิงที่ไม่มีเพศสัมพันธ์
จากการศึกษาผู้หญิงในวิทยาลัยแห่งหนึ่งพบว่า ในหญิงที่มีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 วันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะถึง 37% และในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 5 วัน พบว่ามีโอกาสเกิดโรคมากกว่าถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์เพียง 1 วัน หรือ กลุ่มที่ไม่มีเพศสัมพันธ์เลย
ส่วนในกลุ่มประชากรชายวัยรุ่นถึงวัยกลางคนจะพบโรคนี้ได้น้อยกว่า โดยพบเพียง 5-8 คนจาก 10,000 คน ใน 1 ปี
สาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรค
ภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเข้าไปในทางเดินปัสสาวะ โดยผ่านทางท่อปัสสาวะ
โดยส่วนใหญ่โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มักเกิดจากเชื้อ E. coli (อี. โคไล) และแบคทีเรียอื่น ๆ ที่พบได้ปกติในบริเวณทางเดินอาหาร
การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่เชื้อ Herpes (เฮอร์พีรส์), Gonorrhea (โกโนเรีย), Chlamydia (คลาไมเดีย) และ Mycoplasma (ไมโคพลาสมา) สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้
ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
1. มีท่อปัสสาวะที่ค่อนข้างสั้น
2. ในหญิงที่มีการเช็ดทำความสะอาดที่ไม่เหมาะสม (เช่นการเช็ดจากหลังไปหน้า นำพาให้เชื้อแบคทีเรียจากรูทวารมายังท่อปัสสาวะได้)
3. ในชายที่มีต่อมลูกหมากขนาดใหญ่ หรือ มีภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign Prostate Hyperplasia-BPH)
4. ปัสสาวะน้อย จากการที่ดื่มน้ำปริมาณน้อยเกินไป
5. เป็นนิ่วบริเวณกรวยไต หรือการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ
6. การมีเพศสัมพันธ์
7. การใช้ห่วงคุมกำเนิด หรือใช้สารทำลายเชื้ออสุจิในการคุมกำเนิด
8. วัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงระบบทางเดินปัสสาวะในผู้หญิง
9. การใช้สายสวนปัสสาวะในการขับปัสสาวะ
10. ได้รับการผ่าตัด หรือมีหัตถการบริเวณที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะในช่วงที่ผ่านมา
11. เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคอื่นที่ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง
โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้พบบ่อยมากไปกว่าในหญิงทั่วไป แต่การหายจากโรคจะยากกว่า และมีโอกาสเกิดซ้ำได้มากกว่า รวมถึงอาจเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าอีกด้วย ซึ่งเป็นผลมากจากการเปลี่ยนแปลงของทางเดินปัสสาวะระหว่างตั้งครรภ์ อันจะส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณไตได้ง่ายกว่า
หากคุณกำลังตั้งครรภ์ และสงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์อย่างทันที
ภาวะแทรกซ้อนของการเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
ส่วนใหญ่แล้ว การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะจะไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ หากได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังต่อไปนี้
1. เกิดการติดเชื้อซ้ำ
2. เกิดความเสียหายต่อไตอย่างถาวร
3. หากเกิดในหญิงตั้งครรภ์ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย
4. ทำให้ท่อปัสสาวะในผู้ชายตีบแคบลง
5. อาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) โดยเฉพาะในกรณีที่ติดเชื้อบริเวณไต (urosepsis) ซึ่งมีอันตรายถึงแก่ชีวิต
การป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
วิธีการต่อไปนี้ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
1. ดื่มน้ำในปริมาณมากพอสมควร เพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียออกมาได้ง่ายขึ้น
2. หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะที่นานเกินไป
3. ทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง หลังจากปัสสาวะ หรืออุจจาระ
4. รีบถ่ายปัสสาวะโดยเร็ว หลังจากการมีเพศสัมพันธ์
5. หลีกเลี่ยงการใช้สารระงับกลิ่น, อุปกรณ์ฉีดล้าง, แป้ง หรือผลิตภัณฑ์ของสตรีอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ
6. เลือกใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ แทนการใช้ห่วงคุมกำเนิด สารทำลายเชื้ออสุจิ หรือถุงยางอนามัยที่ไม่มีสารหล่อลื่น
กรวยไตอักเสบ
ในกรณีที่ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบมีภาวะไตติดเชื้อชนิดเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของฝีหนอง หรือความผิดปกติอื่น ๆ ของไต และผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อรักษา หรืออาจต้องตัดเนื้อไตบางส่วนทิ้งไป หากพบว่าไตติดเชื้อรุนแรงมาก
ภาวะแทรกซ้อนของกรวยไตอักเสบ
กรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลันมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนหากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง แต่อาจนำไปสู่การเกิดกรวยไตอักเสบชนิดเรื้อรังได้ ซึ่งอาจทำให้ไตเสียหายถาวร หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด และแม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที
ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของกรวยไตอักเสบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง การเกิดแผลเป็นหรือฝีในไต และภาวะไตวายเฉียบพลัน
การป้องกันกรวยไตอักเสบ
กรวยไตอักเสบอาจป้องกันได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยอาจปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อขับปัสสาวะที่มีเชื้อแบคทีเรียออกจากร่างกาย
- ไม่กลั้นปัสสาวะ และปัสสาวะทันทีเมื่อรู้สึกปวด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น