วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

“โรคเก๊าท์”

“โรคเก๊าท์” เป็นอาการผิดปกติของร่างกายอันเนื่องมาจากการกินชนิดอิ่มหมีพีมันเกินไป กินดีอยู่ดีเกินไป และไม่ค่อยไม่ออกกำลังกาย ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ชายในวัยประมาณ 40 ปี แต่ถ้าเกิดในผู้หญิงมักจะพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว
สาเหตุของโรค
imageเกิดจากกระบวนการใช้ และขับถ่ายสารพวกพิวรีนของร่างกายผิดปกติไป พิวรีนเป็นธาตุอาหารที่พบได้ในเนื้อสัตว์ ข้าวสาลี เครื่องในสัตว์ (ตับ, เซี่ยงจี้) เป็นต้น ซึ่งจะถูกย่อยจนกลายเป็นกรดยูริค และจะขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ในคนปกติกรดยูริคจะถูกสร้างขึ้นในอัตราช้าพอที่ไตจะขับออกได้หมดทันกับการ สร้างขึ้นพอดี สำหรับบางรายที่กรดยูริคถูกสร้างขึ้น แต่ไตทำหน้าที่ขับถ่ายออกมาได้ช้า หรือเร็วก็ตามจะทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริคมากขึ้นในร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บปวดอย่างรุนแรงในข้อกระดูกหรือรอบ ๆ ข้อกระดูก โรคนี้สามารถถ่ายทอดกันได้ทางกรรมพันธุ์
อาการของโรค
มีอาการปวด บวม แดง ร้อนตามข้อ และเจ็บ อาจรุนแรงจนถึงกับเดินไม่ได้ก็มี อาการนี้จะเป็น ๆ หาย ๆ จะทิ้งช่วงระยะเวลาเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน หรือเป็นปีก็ได้ ซึ่งอาการปวดอาจจะเป็นข้อเดียวหรือหลายข้อพร้อมกันก็ได้ ข้อที่เป็นบ่อย เช่น ข้อเท้า ข้อหัวแม่เท้าหรือหัวข้อเข่า นอกจากอาการปวดตามข้อแล้วอาจมีอาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้เช่นกัน
การรักษา
โรคนี้เป็นแล้วโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้มีน้อย ต้องรับการรักษาไปตลอดชีวิต ทั้งนี้เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม วิธีที่จะช่วยได้ดีที่สุด คือ พยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และทานยาตามที่แพทย์สั่ง
ข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์
เป็นที่น่าแปลกใจไม่น้อยที่ท่านสามารถจะอยู่เป็นปกติสุขได้ ถ้าเพียงแต่ท่านจะปฏิบัติตนกลาง ๆ อย่างพอสัณฐานประมาณ เพื่อบรรเทา และควบคุมอาการของโรคเก๊าท์ ท่านควรปฏิบัติตน ดังนี้
รับประทานอาหารตามปกติ และให้ร่างกายได้รับคุณค่าอาหารที่เพียงพอ ไม่ควรรับประทานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ไม่ควรรับประทานชนิดของอาหารตามที่แพทย์สั่งห้าม
นอนหลับให้เพียงพอ การที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดอาการโรคเก๊าท์ชนิดฉับพลันได้ง่าย
สวมรองเท้าขนาดพอเหมาะ ลดความชอกช้ำที่ร่างกายได้รับ เช่น จากการสวมรองเท้าที่คับเกินไป จะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการโรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลันขึ้นได้
ควบคุมน้ำหนักของร่างกาย การที่น้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วนเกินไปจะทำให้การรักษาโรคเก๊าท์ยุ่งยาก ซับซ้อน และอาจทำให้อาการโรครุนแรงยิ่งขึ้น
ควรดื่มน้ำมาก ๆ ผู้ป่วยด้วยโรคเก๊าท์มักจะมีก้อนนิ่วเกิดขึ้นในไตได้ง่าย การดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว (ประมาณ 2 ลิตร) จะช่วยได้มากในเรื่องนี้
ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง เมื่อจะเดินทางไกล ควรนำยาติดตัวไปด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงจากปัญหายาหมด
ควรแจ้งให้ศัลยแพทย์ทราบว่าท่านเป็นโรคเก๊าท์ ในกรณีที่ท่านจะได้รับการผ่าตัด แม้การผ่าตัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการโรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลันขึ้นได้ จึงควรแจ้งให้ศัลยแพทย์ทราบก่อนทำการผ่าตัด เพื่อศัลยแพทย์จะได้หามาตรการบางอย่างเพื่อปฏิบัติต่อไป
ข้อพึงงดเว้น
ย่าเอาความวิตกกังวลไปเป็นเพื่อนนอน เพราะความวิตกกังวลจะทำให้เกิดอาการโรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลันขึ้นได้
อย่าออกกำลังกายหักโหม ควรปฏิบัติหน้าที่การงานหาความเพลิดเพลิน และออกกำลังกายตามที่ท่านเคยปฏิบัติมา แต่อย่าให้มากเกินไป
อย่าปล่อยให้ร่างกายได้รับความเย็นมากเกินไป ผู้ป่วยด้วยโรคเก๊าท์มักทนต่อความเย็นไม่ค่อยได้ ฉะนั้น จึงควรใช้เครื่องนุ่งห่มที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายพอสมควร
อย่ารับประทานยาอื่นใดนอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง ก่อนที่จะปรึกษากับแพทย์ของท่าน เพราะยาบางอย่างอาจออกฤทธิ์ตรงข้ามกับฤทธิ์ของยารักษาโรคเก๊าท์
อย่าดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์มากจนเกินไป ปริมาณแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลันขึ้นได้ ขอให้ท่านปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์
อาหารกับโรคเก๊าท์
เป็นหลักที่ถือปฏิบัติกันทั่วไปว่าผู้ป่วยด้วยโรคเก๊าท์ ควรหลีกเลี่ยงจากของรับประทานที่มีธาติอาหารพิวรีน (Purines) สูง อาหารพวกนี้ เช่น ตับอ่อน (Sweetbreads) ตับ เซ่งจี๊ ม้าม ลิ้น นอกเหนือไปจากนี้แล้วก็ไม่มีกฎตายตัวอะไรสำหรับผู้ป่วยด้วยโรคเก๊าท์ ผู้ป่วยบางรายอาจรับประทานได้เช่นปกติ แต่บางรายอาจต้องจำกัดการรับประทานพวกธาตุอาหารพิวรีนดังกล่าว ซึ่งก็สุดแต่แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินว่าท่านจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ต้องการหรือต้องจำกัด หรือต้องงดอาหารประเภทใดบ้าง ก็ขอให้ท่านปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ข้อแนะนำในการจำกัดสารอาหารพิวรีน
อาหารที่ต้องงด
พวกเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ตับอ่อน หัวใจ ไส้ สมอง เซ่งจี๊
กะปิ ปลาซาดีน, ปลาซาดีนกระป๋อง ไข่ปลา น้ำซุบสกัดจากเนื้อสัตว์, น้ำเคี่ยวเนื้อ (Meat extracts) น้ำเกรวี (Gravies)
อาหารที่ต้องลด (ต้องจำกัด)
เนื้อสัตว์ (เหลือวันละมื้อ) ปลาทุกชนิด และอาหารทะเลอื่น ๆ เช่น กุ้ง หอย ปู (เหลือวันละมื้อ) เบียร์ และเหล้าต่าง ๆ ถั่วบางอย่าง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา
ผักบางอย่าง เช่น หน่อไม้ฝรั่ง, แอสพารากัส, กระหล่ำดอก, ฝักขม, เห็ด
ขาวโอ๊ต ข้าวสาลีที่ไม่ได้สีเอารำออก (Whole-wheat cereal)
อาหารที่รับประทานได้ตามปกติ
ข้าวต่าง ๆ (ยกเว้นข้าวโอ๊ต, ข้าวสาลีที่ไม่ได้สีเอารำออก)ผัก (ยกเว้นชนิดที่ระบุให้จำกัด) ผลไม้ น้ำนม ไข่ ขนมปังเสริมวิตามิน เนย และเนยเทียม อาหารอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุให้งด หรือให้จำกัด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น