วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

ความหมาย
โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ในที่นี้หมายรวมถึง โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (ischemic stroke) และ โรคหลอดเลือดสมองแตก (intracranial hemorrhage)

ชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic stroke) 

เกิดจากหลายสาเหตุ ...
• เกิดจากเส้นเลือดใหญ่ในสมองแข็งและตีบตัน (atherothrombosis) ทำให้เนื้อสมองตายเป็นบริเวณกว้าง และอาจเกิดสมองบวมกดเนื้อสมองข้างเคียงตามมาได้
• เกิดจากก้อนเลือดเล็กๆ มาตามกระแสเลือด มาอุดตันเส้นเลือดใหญ่ในสมอง (embolism) อาจมาจากหัวใจ(cardioembolic) หรือเส้นเลือดใหญ่ก็ได้(artery to artery)
• เกิดจากการเสื่อมของเส้นเลือดเส้นเล็ก (lacunar infarction) บริเวณเนื้อสมองตาย จะไม่มากแต่ผู้ป่วยอาจจะอ่อนแรงมากๆได้

โรคหลอดเลือดสมองแตก (Intracranial hemorrhage) 
มีได้หลายชนิด ...
• เลือดออกในเนื้อสมอง (intracerebral hemorrhage) เกิดจากผนังเส้นเลือดเสื่อมสภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงนานๆ หรือควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี
• เลือดออกในเนื้อสมองจากการที่เส้นเลือดมีสารอมัยลอยด์สะสม (amyloid angiopathy)และทำให้เส้นเลือดแตก มักมีอาการสมองเสื่อมร่วมด้วย มักพบในคนสูงอายุ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
• การแตกของเส้นเลือดโป่งพอง (ruptured aneurysm) ในช่องที่อยู่ของน้ำไขสันหลัง(subarachnoid hemorrhage) ซึ่งผู้ป่วยมักมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
• เส้นเลือดดำและแดงต่อกันผิดปกติ (arteriovenous malformation) ทำให้มีเลือดออกทั้งในเนื้อสมองและในช่องที่อยู่ของน้ำไขสันหลัง(subarachnoid hemorrhage)มักพบในคนอายุน้อย ไม่ทราบสาเหตุ

โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (ischemic stroke) 
เกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง ทำให้เกิดอาการผิดปกติของการทำงานร่างกายส่วนที่สมองส่วนนั้นๆ ควบคุม

ทั้งถ้าอาการอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงจะเรียกว่าเป็น การขาดเลือดแบบชั่วคราว (Transient ischemic attack หรือ TIA.หรือ mini-stroke) ซึ่งโดยมากอาการมักไม่นานเกินครึ่งชั่วโมง

ความสำคัญคือถ้าเกิด การขาดเลือดแบบชั่วคราว (TIA) แล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันถาวร ตามมาได้ถึง 1 ใน 10 คน ในสัปดาห์แรก และประมาณ 2 ใน 10 คน ในเดือนแรก หลังจากนั้นโอกาสจะน้อยลงเป็นประมาณ 4-5 ใน 100 คนต่อปี แพทย์จึงเน้นให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตนมีอาการของการขาดเลือดแบบชั่วคราวมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

อาการบ่งชี้ของโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 
- อาการทางระบบประสาทที่เป็นอย่างรวดเร็ว หรือ ทันที
- อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก
- มองไม่เห็นครึ่งซีก
- ตาบอดชั่วขณะ
- พูดไม่เป็นภาษา หรือไม่เข้าใจภาษา
- เวียนศีรษะตลอดเวลาโดยไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนท่าทาง
- เดินเซ ภาพซ้อน ตาเหล่ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยเสี่ยง
ทั้งนี้โอกาสที่จะเกิดโรคในแต่ละคนแตกต่างกันขึ้นกับ
ปัจจัยที่เสี่ยงเช่น อายุมาก เพศชาย และ การมีประวัติคนในครอบครัว ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่า คนอายุน้อย เพศหญิง และ คนที่ไม่มีประวัติในครอบครัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนแปลงได้



ปัจจัยเสี่ยงอื่นได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัจจัยเสี่ยงกลุ่มนี้สามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนได้ด้วยการรักษาต่อเนื่อง และการใส่ใจดูแลตนเองของผู้ป่วย

มีรายงานว่าการดื่มเหล้าปริมาณเล็กน้อยไม่เกินวันละหนึ่งแก้วช่วยลดการแข็งของเส้นเลือด แต่ถ้าดื่มมากเป็นประจำจะเป็นพิษต่อตับ เกิดตับแข็ง โรคอ้วน ตับอ่อนอักเสบ เบาหวาน และ เส้นเลือดในสมองแตก เนื่องจากผลการศึกษาไม่แน่ชัด และประโยชน์ที่ได้เพียงเล็กน้อยโดยทั่วไปแพทย์จะไม่แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มเหล้าด้วยเหตุผลดังกล่าว
การรักษา 
การใช้ยา เช่น ยาต้านเกร็ดเลือด เช่น แอสไพริน(aspirin) คโรพิโดเกล(clopidogrel) ไดไพริดาโมล(dipyridamole) หรือการใช้ยาลดการแข็งตัวของเลือด เช่น วาฟาริน (warfarin)

ถ้าผู้ป่วยมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ การรักษาโดยการผ่าตัดจะใช้ในบางกรณีทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ ระยะของโรค และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย เช่น ถ้าสมองส่วนที่ตายเกิดบวมมากจนกดสมองส่วนอื่นก็จำเป็นต้องผ่าตัด หรือ การผ่าตัดเส้นเลือดที่คอตีบที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการสมองขาดเลือด ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายๆไป
การป้องกัน
จึงเน้นที่การควบคุมปัจจัยเสี่ยงเช่น คุมเบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รักษาโรคร่วมเช่นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อย่างต่อเนื่อง งดสูบบุหรี่ เหล้า และออกกำลังกายเป็นประจำ
ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นซ้ำหรือไม่

ถึงแม้ผู้ป่วยจะได้ยาต้านเกร็ดเลือดระยะยาว แต่1 ใน 4 ของผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน มีโอกาสเกิดซ้ำได้ใน5 ปี แอสไพรินจะลดโอกาสเกิดเส้นเลือดในสมองตีบซ้ำ ลงไปร้อยละ18 (เช่นจาก 5 คน เป็น 4 คน) นั่นหมายถึง ยาไม่ได้ป้องกันการเกิดซ้ำได้ทุกราย ยิ่งกว่านั้นการเกิดเส้นเลือดในสมองตีบซ้ำจะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมตามมาในภายหลัง “ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องทานยาตลอดชีวิต ดูแลตนเองและควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”


สถิติโลก

  • - องค์การอนามัยโลกได้ทำนายไว้ว่าในปี พ.ศ. 2573 ประชากรโลกจำนวน 23 ล้านคน
    จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ 
       โดยร้อยละ 85 อยู่ใน ประเทศกำลังพัฒนา
  • - 17.5 ล้านคนของประชากรทั้งโลกในปี 2005 เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ
    ซึ่ง 80% อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา  และเป็นประชากรกลุ่ม วัยแรงงาน
  • - ประชากรโลกเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจถึง 17 ล้านคน
    หรือ คิดเป็น 48% ของการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อทั้งหมด รองลงมา
       คือ โรคมะเร็ง 21% โรคถุงลมโป่งพอง รวมโรคปอดเรื้อรังและหอบหืด 12% (4.2 ล้านคน)
    และ โรคเบาหวาน 4% (1.3 ล้านคน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น